แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป (2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น และ (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้และมาตรา 25 ซึ่งบัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาคดีไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประสงค์ที่จะให้ศาลพิจารณาคดีต่อไป โดยยื่นคำร้องขอเข้าว่าความแทนจำเลยร่วมที่ 1 และขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปกับยื่นคำให้การมาพร้อมด้วยเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าความแทนจำเลยร่วมที่ 1 ลูกหนี้ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว แม้ผลของคดีอาจทำให้ที่ดินทั้ง 5 แปลง ต้องกลับไปเป็นของจำเลยร่วมที่ 1 ก็เรียกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์จัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือฟ้องร้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) (3) แต่อย่างใด เพราะคดีนี้ โจทก์ได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องก่อนที่จำเลยร่วมที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การที่ศาลชั้นต้นมิได้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ จึงหาเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23197 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับแรก ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2541 และฉบับที่ 2 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2548 โดยให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 1 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23199 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับแรก ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2541 ฉบับที่ 2 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2542 ฉบับที่ 3 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2544 และเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23199 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2544 กับเพิกถอนการขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 23199 ระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2547 โดยให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 1 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23273 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับแรก ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2541 ฉบับที่ 2 ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2548 โดยให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 1 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับแรก ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2541 เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 ฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2541 ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 9 เพิกถอนการไถ่ถอนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 6 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 ระหว่างจำเลยที่ 6 กับจำเลยที่ 10 ตามสัญญาจำนองเป็นประกันฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 โดยให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 1 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2541 เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 ฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2541 ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 9 เพิกถอนการไถ่ถอนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 7 และที่ 8 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 และเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 ระหว่างจำเลยที่ 7 และที่ 8 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 โดยให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 1 หากจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ไม่ยินยอมโอนหรือเพิกถอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำขอท้ายฟ้อง ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาด้วย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทปทุมวิลเลจ จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยให้เรียกว่า จำเลยร่วมที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 ยื่นคำร้องขอให้เรียกกรมที่ดินเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยให้เรียกว่า จำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมที่ 1 โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 โดยวันที่ 5 มีนาคม 2542 นายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดปทุมธานีได้รับจดทะเบียนเลิกบริษัทและยังอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี โดยมีนางสาวคำ เป็นผู้ชำระบัญชี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเข้าดำเนินคดีแทนจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งเก้าแปลง ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งยึดที่ดินทั้งเก้าแปลงเพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากรแก่โจทก์ วันที่ 2 และ 6 ตุลาคม 2541 จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินทั้งห้าแปลงให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ไป
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้องและยกคำร้องสอดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23197 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2541 และฉบับที่ 2 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2548 เพิกถอนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23199 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 3 ฉบับ ฉบับแรกระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2541 ฉบับที่ 2 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2542 ฉบับที่ 3 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2544 เพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23199 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ให้เพิกถอนการขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 23199 ระหว่างจำเลยที่ 4 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2547 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23273 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2541 ฉบับที่ 2 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2548 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานีพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2541 และเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 ฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2541 ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 9 และเพิกถอนการไถ่ถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 และเพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 6 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 และเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 ระหว่างจำเลยที่ 6 กับจำเลยที่ 10 ตามสัญญาจำนองเป็นประกันฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เพิกถอนนิติกรรมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2541 และเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2541 ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 9 และเพิกถอนการไถ่ถอนสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญา ฉบับลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 7 และที่ 8 ตามสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 และเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 ระหว่างจำเลยที่ 7 และที่ 8 กับจำเลยที่ 9 ตามสัญญาจำนองฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 โดยให้ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 1 หากจำเลยทั้งสิบและจำเลยร่วมทั้งสองไม่ยินยอมโอนหรือเพิกถอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบและจำเลยร่วมทั้งสอง ให้ยกคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสิบและจำเลยร่วมทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 และจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 และจำเลยร่วมที่ 2 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 10 และจำเลยร่วมที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยร่วมที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท อยู่ระหว่างการชำระบัญชี โดยมีนางสาวคำ เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยร่วมที่ 1 ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์เป็นเงิน 5,038,191.66 บาท ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดยนายพิพัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดรักษาราชการแทน มีคำสั่งให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 23197, 23199, 23234, 23235, 23280, 23281, 23282, 23273 และ 18980 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี รวม 9 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระค่าภาษีอากรและแต่งตั้งเจ้าพนักงานให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23197, 23199 และ 23273 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23197 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 กับโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23199 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 โอนขายต่อให้แก่จำเลยที่ 4 ไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 และวันเดียวกันจำเลยที่ 4 จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยที่ 9 กับขึ้นเงินจำนองเป็นประกันครั้งที่ 1 จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23273 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 และ 23235 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 5 ซึ่งวันเดียวกันจำเลยที่ 5 จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยที่ 9 จำเลยที่ 5 ไถ่ถอนจำนองแล้วโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23234 ให้แก่จำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 6 จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยที่ 10 จำเลยที่ 5 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23235 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 7 และที่ 8 ซึ่งจำเลยที่ 7 และที่ 8 จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่จำเลยที่ 9 ก่อนฟ้องโจทก์แจ้งให้จำเลยร่วมที่ 1 ยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง ให้เพิกถอนการจำนอง ไถ่ถอนจำนองและการขึ้นวงเงินจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23199, 23234 และ 23235 เพื่อติดตามเอาที่ดินทั้ง 5 แปลง กลับคืนมาเป็นของจำเลยร่วมที่ 1 แต่จำเลยร่วมที่ 1 เพิกเฉย กับแจ้งให้จำเลยทั้งสิบทราบถึงนิติกรรมซื้อขายและจำนองซึ่งตกเป็นโมฆะแล้ว ตามหนังสือแจ้งประกาศหนังสือพิมพ์สายกลางและใบตอบรับไปรษณีย์ ต่อมาศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยร่วมที่ 1 เด็ดขาด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำให้การเข้ามาในคดีถือเป็นการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว ศาลจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป (2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น และ (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้ และมาตรา 25 ซึ่งบัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ก็เห็นได้ชัดว่าในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า การที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาคดีไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประสงค์ที่จะให้ศาลพิจารณาคดีต่อไป โดยยื่นคำร้องขอเข้าว่าความแทนจำเลยร่วมที่ 1 และขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปกับยื่นคำให้การมาพร้อมด้วย เช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าความแทนจำเลยร่วมที่ 1 ลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว แม้ผลของคดีอาจทำให้ที่ดินทั้ง 5 แปลง ต้องกลับไปเป็นของจำเลยร่วมที่ 1 ก็เรียกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์จัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือฟ้องร้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) (3) แต่อย่างใด เพราะคดีนี้โจทก์ได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องก่อนที่จำเลยร่วมที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การที่ศาลชั้นต้นมิได้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ จึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยเองและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาที่โจทก์ชนะคดีในศาลชั้นต้นและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 10 และจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์โต้เถียง ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 และโจทก์มิได้ฎีกา เพราะไม่มีข้อที่จะให้โจทก์ยกขึ้นกล่าวได้จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาในปัญหาตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 10 และจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์ใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รวมสั่งในคราวเดียวกันเมื่อมีคำพิพากษา