คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 150 (เดิม) ประกอบมาตรา 246 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ต้องนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางตามที่ศาลกำหนด หากไม่นำมาวาง อุทธรณ์ย่อมไม่ชอบ คดีนี้ศาลชั้นต้นให้เวลาจำเลยที่ 1 นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องแย้งมาวางศาลให้ครบถ้วน โดยจำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาการวางเงินหลายครั้งเป็นเวลานานถึง 2 ปีเศษ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบธุรกิจที่มีมูลค่าทางธุรกิจสูงดังเช่นทำสัญญากับโจทก์คดีนี้ในวงเงินถึง 160,000,000 บาท ไม่นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องแย้งมาวางศาลให้ครบถ้วน โดยอ้างเหตุขอเลื่อนการนำเงินมาวางหลายครั้งและเป็นเวลานานดังกล่าว ทำให้คดีต้องเนิ่นช้าออกไปและทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้งเฉพาะส่วนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไว้ เป็นการไม่ชอบ เมื่ออุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบ ถึงแม้ต่อมาในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งนี้มาครบถ้วน ก็ไม่ทำให้อุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับมา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 172,870,319.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 156,933,333.32 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง และจำเลยที่ 2 ชำระเงิน 43,366,986.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 384,400,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 156,933,333.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าโฆษณาแต่ละงวดของงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ถึงธันวาคม 2547 งวดละ 13,333,333.33 บาท นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2547 วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 วันที่ 30 มิถุนายน 2547 วันที่ 1 สิงหาคม 2547 วันที่ 30 สิงหาคม 2547 วันที่ 1 ตุลาคม 2547 วันที่ 30 ตุลาคม 2547 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 วันที่ 1 มกราคม 2548 วันที่ 29 มกราคม 2548 และวันที่ 2 มีนาคม 2548 ตามลำดับ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 43,336,986.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ต้องชำระให้โจทก์และร่วมรับผิดค่าทนายความ 10,000 บาท และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 กับค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องเดิมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแย้ง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ตามฟ้องแย้งทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ซื้อเหมาเวลาโฆษณาในรายการข่าวของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานของโจทก์ เป็นช่วงเวลาตลอดปี 2547 ในราคา 160,000,000 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 11,200,000 บาท รวมเป็นเงิน 171,200,000 บาท ตกลงชำระเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละ 14,266,666.66 บาท งวดแรกชำระภายใน วันที่ 1 เมษายน 2547 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 40,000,000 บาท หลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ดำเนินการโฆษณาให้แก่จำเลยที่ 1 หมดครบทุกรายการที่จำเลยที่ 1 แจ้ง แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่างวดให้โจทก์เพียงงวดแรก งวดเดียว งวดที่เหลือจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ชำระ โดยอ้างว่าในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ซื้อเหมาเวลาโฆษณาในรายการข่าว โจทก์ดำเนินการให้มีการโฆษณาแฝง ทั้งในรูปแบบของการโฆษณาในช่วงเวลาโดยตรง การโฆษณาในช่วงรอยต่อของเวลาระหว่างรายการข่าวกับรายการอื่นและการใช้ตัววิ่งในช่วงเวลาของรายการข่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย เมื่อถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยที่ 1 จึงให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย ทั้งในส่วนที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ขายโฆษณาไม่ได้หรือได้ในราคาต่ำกว่าที่ควรและทั้งในส่วนที่โจทก์ให้ข่าวว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ทำให้จำเลยที่ 1 เสียชื่อเสียง ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 417,474,416.60 บาท เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามฟ้องและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งในส่วนที่โจทก์ฟ้องและในส่วนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้ง โดยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 แต่จำเลยที่ 1 เสียค่าขึ้นศาลครบถ้วนคือ จำนวน 200,000 บาท เฉพาะตามฟ้องเดิม ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าขึ้นศาล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลในส่วนนี้ จำเลยที่ 1 ชำระให้บ้างเป็นบางส่วน แต่ไม่ครบถ้วน และขอผัดผ่อนการชำระค่าขึ้นศาลตลอดมาหลายครั้งหลายหน ในที่สุดศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ทั้งในส่วนฟ้องเดิมและในส่วนฟ้องแย้ง โดยในส่วนของฟ้องแย้งให้รับเป็นอุทธรณ์เฉพาะส่วนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลไว้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนที่เป็นฟ้องแย้งว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่เสียค่าขึ้นศาลไม่ครบไม่ชอบด้วยกฎหมายและพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ใช้เวลาขอขยายระยะเวลาในการวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนของชั้นฟ้องแย้งนี้นานถึง 2 ปี 5 เดือน เป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า จึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในส่วนของฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 ฎีกา คดีนี้โดยเสียค่าขึ้นศาลทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและในส่วนของฟ้องแย้งในอัตราสูงสุดคือ ส่วนละ 200,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและในส่วนของฟ้องแย้ง
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ในส่วนฟ้องแย้ง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 (เดิม) ประกอบมาตรา 246 คู่ความฝ่ายที่ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์จะต้องนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางตามที่ศาลกำหนด หากไม่นำมาวาง อุทธรณ์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับในคดีนี้ศาลชั้นต้นให้เวลาจำเลยที่ 1 ที่จะนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องแย้งมาวางศาลให้ครบถ้วน โดยจำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาการวางเงินไปหลายครั้งเป็นเวลานานถึง 2 ปีเศษ จำเลยที่ 1 ประกอบการทำธุรกิจที่มีมูลค่าทางธุรกิจสูง ดังเช่น ทำสัญญากับโจทก์ในคดีนี้ในวงเงินถึง 160,000,000 บาท เช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนของฟ้องแย้งมาวางศาลให้ครบถ้วน โดยอ้างเหตุขอเลื่อนการนำเงินมาชำระหลายครั้ง และเป็นเวลานานดังกล่าว ทำให้คดีต้องเนิ่นช้าออกไปและทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะประวิงคดี จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผลร้ายจากการกระทำของตน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ส่วนของฟ้องแย้งเฉพาะส่วนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไว้เป็นการไม่ชอบและการที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่ควรมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนอีก โดยให้ถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่ออุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ชอบ ถึงแม้ต่อมาในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 จะชำระค่าขึ้นศาลในส่วนของฟ้องแย้งนี้มาครบถ้วน ก็ไม่ทำให้อุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนของฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับมา จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนฟ้องแย้งทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องเดิมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share