คำวินิจฉัยที่ 56/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันและฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินจากประชาชนที่ครอบครองและทำประโยชน์ไปพัฒนาและออกโฉนดที่ดินเพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลสำหรับจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร มีที่ดินทำกินในโครงการที่ดินทำกิน “ทุ่งหมาหิว” โดยภายหลังพัฒนาที่ดินและออกโฉนดที่ดินแล้ว จำเลยที่ ๒ จะขายที่ดินคืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในขณะนั้นการที่จำเลยที่ ๒ ได้ออกประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เรื่องการซื้อขายที่ดินทุ่งหมาหิวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี โดยจำเลยที่ ๒ ตกลงขายที่ดินคืนให้แก่จำเลยที่ ๑ แต่โจทก์เห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอซื้อที่ดินจากจำเลย ที่ ๒ ตามเงื่อนไขการขายที่ดินคืนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง การที่จำเลยที่ ๒ ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ถือเป็นการสั่งรับคำเสนอซื้อของจำเลยที่ ๑ เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑ (๑) ของกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อพิพาทตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับเอกชนอันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง เป็นการโต้แย้งว่าจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งรับเสนอซื้อที่ดินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๖ /๒๕๕๘

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๖ นายประหยัด ผลทวี โจทก์ ยื่นฟ้อง นางดอกจันทร์ แสนทวีสุข ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๘๐/๒๕๕๖ ความว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔๘๕ เป็นที่ดินมือเปล่า ที่มีนายลุน สมแก้ว เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๒ ตำบลจิกเทิง อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตาลสุม) จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาในปี ๒๔๙๘ นายลุนได้แจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าว ตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๖๖ และต่อมาได้ยกที่ดิน ประมาณ ๑๘ ไร่เศษ ให้นางน้อย ผลทวี ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ และในปี ๒๕๑๐ นางน้อยได้ขายที่ดินดังกล่าวนี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินจากประชาชนที่ครอบครองและทำประโยชน์รวมทั้งที่ดินของนางน้อยไปพัฒนาและออกโฉนดที่ดิน เพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลสำหรับจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรมีที่ดินทำกินในโครงการที่ดินทำกิน”ทุ่งหมาหิว” โดยภายหลังพัฒนาที่ดินและออกโฉนดที่ดินแล้ว จำเลยที่ ๒ มีความประสงค์จะขายที่ดินคืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในขณะนั้น ระหว่างดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ ๒ ได้อนุญาตให้เจ้าของที่ดินเดิมทำกินในที่ดินดังกล่าวได้ ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้ออกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔๘๕ เนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๖๘ ตารางวา โดยจำเลยที่ ๒ ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว และโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน โดยได้รับการยกให้จากนางน้อย ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ มาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับภริยาโจทก์ได้อาศัยสิทธิของโจทก์ เข้าทำกินในที่ดินดังกล่าวและทำการฉ้อฉลดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในที่ดินดังกล่าว เป็นของจำเลยที่ ๑ ทั้งยังบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ (ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๑๓๐/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ ๑๑๗๐/๒๕๔๙) ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้กระทำการโดยทุจริตขอซื้อที่ดินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เข้าใจผิดว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ ๑ จึงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔๘๕ เป็นของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ ยกเลิกการขายที่ดินดังกล่าวและขายให้แก่โจทก์แทน หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษา แทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ ๑ กับบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิซื้อที่พิพาทดังกล่าวจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นผู้มีสิทธิซื้อที่ดินคืนการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการใช้สิทธิโดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔๘๕ โดยได้ที่ดินพิพาทมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของจำเลยเพื่อพัฒนาและจัดรูปที่ดินภายหลังมีความประสงค์จะขายที่ดินให้กับราษฎรเจ้าของเดิมหรือผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน โดยจำเลยที่ ๑ มีคุณสมบัติของผู้ซื้อที่ดินคืนจากจำเลยที่ ๒ ตามประกาศของจำเลยที่ ๒ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๔ เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน โจทก์จึงขาดคุณสมบัติในการซื้อที่ดินคืน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่า โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ ๑ อาศัยสิทธิของโจทก์เข้าทำกินในที่ดินพิพาท และทำกลฉ้อฉลจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ และขอซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ ๒ ทำให้จำเลยที่ ๒ เข้าใจผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ จึงตกลงขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่จำเลยที่ ๑ ดังนั้นจึงเป็นกรณีพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงต้องพิสูจน์สิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ก่อนจึงจะพิจารณาถึงคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ทำนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ ๑ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อมูลคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งรวมการบำรุงและการส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ประชาชนครอบครองและทำประโยชน์ เพื่อดำเนินการโครงการที่ดินทำกิน “ทุ่งหมาหิว” ตามนโยบายของรัฐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำที่ดินทุ่งหมาหิวไปพัฒนาและจัดรูปที่ดิน ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๒ กับนางน้อย ผลทวี เพื่อนำไปพัฒนาและออกโฉนดที่ดินแล้วจำเลยที่ ๒ จะขายที่ดินดังกล่าวคืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน จึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์ในการบำรุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร ตามมาตรา ๓๑ (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ ตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ ๒ โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี อาศัยอำนาจตามความมาตรา ๓๕/๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ และข้อ ๑๕๕ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๙ออกประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เรื่อง การซื้อขายที่ดินทุ่งหมาหิวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๔ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไป เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเป็นผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๒ ตามเงื่อนไขการขายที่ดินคืนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองตามประกาศจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๒ ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งถือเป็นการสั่งรับคำเสนอซื้อของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับเอกชนอันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ข้อพิพาทตามคำฟ้องจึงเป็นการโต้แย้งว่าจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งรับเสนอซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเรื่องสิทธิในที่ดินให้ได้ข้อยุติก่อนก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี ซึ่งก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามคำฟ้องโจทก์ อ้างว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔๘๕ เป็นที่ดินมือเปล่าที่มีนายลุน สมแก้ว เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ต่อมาในปี ๒๔๙๘ นายลุนได้แจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าว ตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๖๖ และต่อมาได้ยกที่ดิน ประมาณ ๑๘ ไร่เศษ ให้นางน้อย ผลทวีซึ่งเป็นมารดาโจทก์ และในปี ๒๕๑๐ นางน้อยได้ขายที่ดินดังกล่าวนี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินจากประชาชนที่ครอบครองและทำประโยชน์รวมทั้งที่ดินของนางน้อยไปพัฒนาและออกโฉนดที่ดินเพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลสำหรับจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรมีที่ดินทำกินในโครงการที่ดินทำกิน “ทุ่งหมาหิว” โดยภายหลังพัฒนาที่ดินและออกโฉนดที่ดินแล้ว จำเลยที่ ๒ มีความประสงค์จะขายที่ดินคืนให้แก่เจ้าของเดิมหรือผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในขณะนั้น ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้กระทำการโดยทุจริตขอซื้อที่ดินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เข้าใจผิดว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ ๑ จึงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๔๘๕ เป็นของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ ยกเลิกการขายที่ดินดังกล่าวและขายให้แก่โจทก์แทน จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิซื้อที่พิพาทดังกล่าว จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นผู้มีสิทธิซื้อที่ดินคืน จำเลยที่ ๒ ให้การว่า เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนด เลขที่ ๗๔๘๕ โดยได้ที่ดินพิพาทมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานของจำเลยที่ ๒ เพื่อพัฒนาและจัดรูปที่ดิน ภายหลังมีความประสงค์จะขายที่ดินให้กับราษฎรเจ้าของเดิมหรือผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน จำเลยที่ ๑ มีคุณสมบัติของผู้ซื้อที่ดินคืนจากจำเลยที่ ๒ เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน โจทก์จึงขาดคุณสมบัติในการซื้อที่ดินคืน เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ ได้ออกประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เรื่อง การซื้อขายที่ดินทุ่งหมาหิวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๔ โดยจำเลยที่ ๒ ตกลงขายที่ดินคืนให้แก่จำเลยที่ ๑ แต่โจทก์เห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๒ ตามเงื่อนไขการขายที่ดินคืนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองตามประกาศของจำเลยที่ ๒ การที่จำเลยที่ ๒ ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ถือเป็นการสั่งรับคำเสนอซื้อของจำเลยที่ ๑ เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๑(๑) ของกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อพิพาทตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับเอกชนอันเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง เป็นการโต้แย้งว่า จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งรับเสนอซื้อที่ดิน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายประหยัด ผลทวี โจทก์ นางดอกจันทร์ แสนทวีสุข ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share