คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จะได้ความตามสำเนาบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนแนบท้ายคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ว่า จำเลยได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนถึงพฤติการณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยก็ตาม ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นการให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวนอันเป็นประโยชน์ต่อการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีการสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดอื่น โดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดอื่นที่จำเลยกล่าวอ้างมีตัวตนจริงหรือไม่ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 97, 100/1, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 72, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนเทปกาวสีดำ ถุงพลาสติกใสแบบกดปิด และอุปกรณ์ในการเสพเมทแอมเฟตามีนของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 91, 101/1 (ที่ถูก มาตรา 100/1) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 12 ปี และปรับ 600,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน และฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 1,400 บาท รวมจำคุก 16 ปี 6 เดือน และปรับ 601,400 บาท เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 24 ปี 9 เดือน และปรับ 901,400 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 4 เดือน 15 วัน และปรับ 450,700 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน เทปกาวสีดำ ถุงพลาสติกใสแบบกดปิด และอุปกรณ์ในการเสพเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 80 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 40 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้ว เป็นจำคุก 12 ปี 4 เดือน 15 วัน และปรับ 450,040 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า สำหรับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคัดค้านความผิดฐานดังกล่าวจึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณถึง 337 เม็ด น้ำหนัก 29.586 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 8.356 กรัม นับว่าเป็นจำนวนค่อนข้างมากทั้งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวมีส่วนทำให้เกิดปัญหาแพร่ระบาดของยาเสพติดให้โทษในชุมชนอันเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสังคมประการอื่นๆ ติดตามมาอีกนานัปการ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 12 ปี และปรับ 600,000 บาท ก่อนเพิ่มโทษและลดโทษ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยอ้างในฎีกาต่อมาว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวนอันเป็นประโยชน์ต่อการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 สมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า แม้จะได้ความตามสำเนาบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนแนบท้ายคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ว่าจำเลยได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนถึงพฤติการณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีการสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดอื่น โดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดอื่นที่จำเลยกล่าวอ้างมีตัวตนจริงหรือไม่ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้จำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 29/2547 ของศาลชั้นต้น และจำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษก็ตาม แต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้ระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับโดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อจำเลยได้พ้นโทษในคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ได้ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 12 ปี และปรับ 600,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 16 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 3 เดือน และปรับ 300,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแล้วเป็นจำคุก 8 ปี 3 เดือน และปรับ 300,040 บาท คำขอเพิ่มโทษให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share