คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4534/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงหรือนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริง และลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมเงินแต่พยานของเจ้าหนี้ไม่ใช่ผู้รู้เห็นในการทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ (จำเลย) ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งมีข้อความว่าลูกหนี้สัญญาจะจ่ายเงินจำนวนที่ระบุในตั๋วแต่ละฉบับให้แก่เจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ยไม่อาจถือเอาตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ทั้งจำนวนเงินที่เจ้าหนี้อ้างว่าให้ลูกหนี้กู้ยืมเฉพาะต้นเงินมีจำนวนมากถึง 1,385,061,779.44 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการเรียกให้ลูกหนี้จัดหาหลักประกันการชำระหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่เจ้าหนี้ ส่วนเอกสารงบการเงินและบัญชีเจ้าหนี้ไม่มีประกันของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้แนบท้ายคำฟ้องอุทธรณ์เป็นการอ้างเอกสารเข้ามาภายหลังที่เจ้าหนี้แถลงหมดพยานในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ไม่ชอบที่เจ้าหนี้จะนำเอกสารดังกล่าวมาอ้างในภายหลังได้ พยานหลักฐานของเจ้าหนี้จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ามูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริง และลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2543
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมเงินจำนวน 1,622,726,584.51 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว เจ้าหนี้รายที่ 2 เจ้าหนี้รายที่ 13 และเจ้าหนี้รายที่ 15 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า ไม่น่าเชื่อว่ามีมูลหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนีของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ผู้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่น หรือเป็นโจทก์ในคดีล้มละลายนั้นเอง และในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แม้จะไม่มีผู้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนั้นก็ตามเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงหรือนำพยานหลักฐานมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามูลหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริง และลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว คดีนี้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้กู้ยืมเงินโดยมีพยานบุคคลคือ นางสาวธาวิณีให้การในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ลูกหนี้ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจึงขอกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้เป็นต้นเงิน 1,385,061,779.44 บาท ดอกเบี้ย 237,664,805.07 บาท รวมเป็นเงิน 1,622,726,584.51 บาท… เห็นว่า นางสาวธาวิณีตอบผู้รับมอบอำนาจเจ้าหน้รายที่ 2 ว่า พยานทำงานกับเจ้าหนี้เมื่อปี 2542 ไม่รู้เห็นการทำสัญญา พยานปากนี้จึงไม่ใช่ผู้ที่รู้เห็นเกี่ยวกับการทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินก็มีข้อความในทำนองเดียวกันว่าลูกหนี้สัญญาจะจ่ายเงินจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วแต่ละฉบับให้แก่เจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ย ไม่อาจถือเอาตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จำนวนเงินที่เจ้าหนี้อ้างว่าได้ให้ลูกหนี้กู้ยืมไปเฉพาะต้นเงินก็มีจำนวนมากถึง 1,385,061,779.44 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการเรียกให้ลูกหนี้จัดหาหลักประกันการชำระหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่เจ้าหนี้ ที่เจ้าหนี้ฎีกาอีกว่าลูกหนี้ได้ส่งงบการเงินของลูกหนี้สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2546 ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 14 หน้า 13 ระบุว่าลูกหนี้ค้างชำระหนี้เจ้าหนี้ 1,385,061,779.44 บาท และตามบัญชีเจ้าหนี้ไม่มีประกัน (ล.13 ก) ซึ่งลูกหนี้ได้ยื่นประกอบคำชี้แจ้งเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏข้อความในหน้า 1 อันดับที่ 6 ว่าลูกหนี้ค้างชำระหนี้ประเภทเงินกู้ยืมจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนั้น ได้ความจากรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ว่าเจ้าหนี้แถลงหมดพยานเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2544 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมายนัดเจ้าหนี้มาสอบสวนเพิ่มเติมแต่เจ้าหนี้ไม่มาตามนัด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จดรายงานทำความเห็นเสนอศาลเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2546 โดยไม่ปรากฏเอกสารทั้งสองรายการในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในขณะที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอศาลชั้นต้น การที่เจ้าหนี้แนบเอกสารทั้งสองรายการดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2547 เป็นการอ้างเอกสารเข้ามาภายหลังที่เจ้าหนี้แถลงหมดพยาน และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ไม่ชอบที่เจ้าหนี้จะนำเอกสารดังกล่าวมาอ้างในภายหลัง พยานหลักฐานของเจ้าหนี้ที่ปรากฏในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ามูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้มีอยู่จริงและลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มานั้นชอบแล้วฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share