แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 264 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตโจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องนำพยานเข้าเบิกความต่อศาลเพื่อสมจริงว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อขายการที่จะถือเอาจำนวนของกลางที่ยึดไว้ว่ามีเป็นจำนวนมากแล้วสันนิษฐานว่าจำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขายนั้นน่าจะไม่ถูกต้องนัก เพราะพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ไม่มีบทบัญญัติให้สันนิษฐานไว้เช่นนั้น ทั้งจำเลยเองก็ปฏิเสธจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความเช่นนั้น แต่ข้อนำสืบนั้นต้องมิใช่ส่วนหนึ่งของคำรับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนเมื่อโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยจำหน่าย จ่าย แจกหรือมีไว้ซึ่งของกลางเพื่อขาย เช่น วิธีการล่อซื้อมาเบิกความต่อศาล จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 116 ริบของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ, 89จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นที่รับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้เมทแอมเฟตามีน จำนวน 264 เม็ด จากจำเลยเป็นของกลาง ตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.1คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทยงยุทธ ปรางทองและพลตำรวจหญิงจันทนา สุมา หรือสิบตำรวจตรีจันทนา สุมา(ยศขณะเบิกความ) ซึ่งเป็นผู้ร่วมตรวจค้นและจับจำเลยเป็นพยานต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันโดยเบิกความว่าได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบขายเมทแอมเฟตามีนที่ห้องแถวไม่เลขที่ ซอยสุขาภิบาล 1หมู่ที่ 17 ตำบลซับสมอทอด อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์พยานกับพวกจึงร่วมกันไปที่ห้องแถวดังกล่าวเมื่อไปถึงพบจำเลยได้แสดงหมายค้นจำเลยยินยอมให้ตรวจค้น จากการตรวจค้นตัวจำเลยพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 264 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในเสื้อยกทรงของจำเลยทั้งสองข้าง โดยพบที่ด้านซ้ายจำนวน 84 เม็ด ด้านขวา 180 เม็ดเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใส บางเม็ดห่อด้วยกระดาษตะกั่วซึ่งใช้สำหรับห่อบุหรี่ เมื่อนำเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดตรวจดูพบว่า บางเม็ดสีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาลอ่อนสีน้ำตาลแก่ บางเม็ดมีเครื่องหมายอักษรเต็มนูน สอบถามจำเลยแล้วรับว่าเป็นของจำเลย พยานทั้งสองปากดังกล่าวไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ทั้งยังเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ อีกทั้งในอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยยอมรับว่าจำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองคงอ้างแต่เพียงว่าเป็นของบุคคลอื่นแต่จำเลยก็มิได้นำสืบให้ฟังได้เช่นนั้น ดังนี้ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้ว่า จำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองส่วนปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยมีของกลางไว้จำนวนมากเป็นการส่อแสดงว่ามีไว้เพื่อขาย โจทก์ไม่จำเป็นต้องนำผู้แจ้งความมาสืบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 264 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องนำพยานเข้าเบิกความต่อศาลเพื่อให้เห็นสมจริงว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อขาย การที่จะถือเอาจำนวนของกลางที่ยึดได้ว่าเป็นจำนวนมาก แล้วสันนิษฐานว่าจำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขายนั้น น่าจะไม่ถูกต้องนัก เพราะพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ไม่มีบทบัญญัติให้สันนิษฐานไว้เช่นนั้น และที่โจทก์อ้างว่าจำเลยยอมรับว่าได้ซื้อเมทแอมเฟตามีนจากบุคคลภายนอกไว้เพื่อขายต่อก็น่าฟังลงโทษได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยปฏิเสธเสียแล้วก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความเช่นนั้น แต่ข้อนำสืบนั้นต้องมิใช่ส่วนหนึ่งของคำรับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนดังที่โจทก์ฎีกา ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นว่าจำเลยจำหน่าย จ่าย แจก หรือมีไว้ซึ่งของกลางเพื่อขาย เช่น วิธีการล่อซื้อ เป็นต้น มาเบิกความต่อศาลให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า หากฟังว่าจำเลยกระทำผิดจริงก็ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยนั้น เห็นว่า โทษตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง บัญญัติอัตราโทษขั้นสูงไว้ 5 ปี จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนเพียง 264 เม็ด น้ำหนัก 236.11 กรัม เท่านั้นจึงไม่น่าวางโทษจำเลยขั้นสูงสุด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ลงโทษมานั้นเห็นว่าหนักเกินไป ศาลฎีกามีอำนาจที่จะกำหนดโทษเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแห่งความผิดได้ แต่ยังไม่สมควรรอการลงโทษฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2