แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ขอให้ริบเงินสด 300 บาท ของกลาง ที่อ้างว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ โดยโจทก์อ้างอิงบทกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 แต่เงินสดจำนวนดังกล่าวจำเลยไม่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางในคดีนี้ จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ หรือเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ อันศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 33 (2) แห่ง ป.อ. จึงไม่อาจริบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548 จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 8 เม็ด น้ำหนัก 0.72 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อเป็นเงิน 2,000 บาท และจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนโดยวิธีสูดดมควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายดังกล่าว เงินสด 2,000 บาท ที่จำเลยได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว กับเงินสดอีก 300 บาท ที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 57, 91, 102 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแต่เพียงบทเดียว ตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 80,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท รวมจำคุก 5 ปี และปรับ 90,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 45,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเงินสด 300 บาท ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนลงโทษจำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน รวมกับโทษความผิดอีกกระทงแล้ว คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน ไม่รอการลงโทษ ไม่ปรับและไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยมีส่วนก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของยาเสพติดให้โทษอันเป็นผลกระทบสร้างปัญหาแก่สังคมไม่มีที่สิ้นสุด พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรงแม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การใช้ดุลพินิจกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นไปโดยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟัง ไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ขอให้ริบเงินสด 300 บาท ของกลาง ที่อ้างว่าจำเลยได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ โดยโจทก์อ้างอิงบทกฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 แต่เงินสดจำนวนดังกล่าวจำเลยไม่ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางในคดีนี้จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่นซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หรือเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้มาโดยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ อันศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่อาจริบได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งริบเงินสด 300 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้แก้ไขจึงไม่ชอบ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา แต่ปัญหาเรื่องริบของกลางหรือไม่นี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายืน แต่ให้คืนเงินสด 300 บาท ของกลางแก่เจ้าของ