คำวินิจฉัยที่ 71/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) มุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่หรือเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภค ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองสนับสนุนและปกปิดการกระทำผิดของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด รับรู้และยินยอมให้สหกรณ์ฯ โฆษณาประชาสัมพันธ์ข่าวสารข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่เป็นความจริงแก่ผู้บริโภคและรับรองรายงานข้อมูลงบการเงินของสหกรณ์ฯ ไม่ถูกต้อง เพื่อชักจูงบุคคลภายนอกให้หลงผิดในฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ จึงเป็นการฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะผู้บริโภคในการที่จะได้รับข้อมูลตามคำพรรณนาที่ถูกต้องเพียงพอในการทำสัญญา ไม่มีลักษณะเป็นคดีปกครอง ประกอบกับตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองมีคำขอที่ระบุให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันกับสหกรณ์ฯ ชำระเงินซึ่งเป็นจำนวนเงินในต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. ๓๗๗๐/๒๕๕๖ ที่ศาลพิพากษาให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด คืนเงินฝากให้แก่โจทก์ทั้งสอง กับเมื่อพิจารณาหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ที่ระบุขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกับสหกรณ์ฯ รับผิดชำระเงินตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดกับสหกรณ์ฯ คืนเงินฝากตามสัญญาฝากเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ข้ออ้างและคำขออันเป็นเหตุตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสัญญาฝากเงินในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. ๓๗๗๐/๒๕๕๖ จึงเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๑/๒๕๕๘

วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ นายสมศักดิ์ บุษยวิไลมาศ ที่ ๑ นางสาวสาริณี กุลธนพานิช ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ ๑ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๒๑๔๑/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด มีทุนเรือนหุ้นและเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับสหกรณ์ฯ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดจากการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยจำเลยที่ ๑ ไม่เปิดเผยและไม่จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนถูกต้องและเพียงพอต่องบการเงินที่ตนรับรอง เป็นเหตุสำคัญให้ผู้บริโภคหลงผิดในฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ส่วนจำเลยที่ ๒ เมื่อพบว่าสหกรณ์ฯ กระทำการเสื่อมเสียประโยชน์ต่อกิจการของสหกรณ์แล้ว กลับปล่อยปละละเลยและมอบโล่ห์ประกาศเกียรติคุณชั้นดีเลิศแก่สหกรณ์ฯ อันเป็นการสนับสนุนและปกปิดการกระทำผิด จำเลยทั้งสองรับรู้และยินยอมให้สหกรณ์ฯ โฆษณาประชาสัมพันธ์ข่าวสารข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่เป็นความจริงแก่ผู้บริโภคและรับรองรายงานข้อมูลงบการเงินของสหกรณ์ฯ ไม่ถูกต้อง เป็นข้อมูลเท็จนำเสนอต่อสมาชิกและโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อบุคคลภายนอกเพื่อชักจูงบุคคลภายนอกให้เกิดความหลงผิดในฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ทำให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิกและเปิดบัญชีเงินฝากไว้ และผลจากการที่สหกรณ์ฯ ต้องตกอยู่ในสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นผลจากการบกพร่องในการตรวจสอบบัญชีและเสนอรายงานการสอบบัญชีของจำเลยที่ ๑ จนไม่สามารถชำระหนี้เงินฝากให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองจึงยื่นฟ้องสหกรณ์ฯ ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๑๘๘๘/๒๕๕๖ หมายเลขแดงที่ ผบ. ๓๗๗๐/๒๕๕๖ ในข้อหาผิดสัญญารับฝากเงิน โดยไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ให้ร่วมรับผิดกับสหกรณ์ฯ ด้วย ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้สหกรณ์ฯ ชำระต้นเงินฝากตามบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ ๑ พร้อมดอกเบี้ยจำนวน ๑๖,๔๐๘,๖๓๐.๖๔ บาท และตามบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ ๒ พร้อมดอกเบี้ยจำนวน ๑๖,๐๕๓,๓๓๖.๘๕ บาท กับทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จคืนแก่โจทก์ทั้งสอง คดีถึงที่สุดแล้ว แต่เนื่องจากสหกรณ์ฯ เกิดวิกฤตการณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองจึงมีหนังสือขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกับสหกรณ์ฯ ชำระเงินหรือจัดการให้มีการชำระเงินตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองปฏิเสธ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันหรือแทนกันกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ชำระเงิน ๓๓,๔๗๔,๕๗๑.๘๘ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำเลยทั้งสองเป็นเพียงส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ในเชิงนโยบายและวางแผนพัฒนาระบบสหกรณ์เท่านั้น และไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหาร การดำเนินกิจการของสหกรณ์ฯ ทั้งไม่มีกฎหมายกำหนดให้การโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกและทำสัญญาฝากเงินกับสหกรณ์ฯ ต้องขอความเห็นชอบก่อน และจำเลยทั้งสองได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว การดำเนินการของสหกรณ์ฯ ที่ผิดระเบียบข้อบังคับจนเกิดปัญหา เกิดจากการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และการบริหารกิจการภายในของสหกรณ์ การที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับเงินจากสหกรณ์ฯ ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องจากสหกรณ์ฯ เต็มจำนวน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้อง เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการถอนเงินฝากและลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด แล้วไม่ได้รับเงิน เหตุตามคำฟ้องเป็นเรื่องผิดสัญญาฝากทรัพย์ มิได้เกิดจากจำเลยทั้งสองออกคำสั่งทางปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ตรวจสอบการใช้อำนาจของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลสหกรณ์ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย โดยฟ้องจำเลยทั้งสองว่าละเลยต่อหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์และกำกับดูแลการดำเนินกิจการของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย การตรวจสอบหรือไต่สวนเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือฐานะการเงินของสหกรณ์ รวมทั้งการสั่งให้สหกรณ์ระงับการดำเนินงานที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖ (๑) (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับข้อ ๘ (๑) และ (๒) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ และข้อ ๒ (๒) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายซึ่งเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีหรือมูลเหตุที่แยกต่างหากจากคดีที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกฎหมายให้ต้องปฏิบัติที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” อันเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่หรือเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายบัญญัติเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดโดยบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด โฆษณาประชาสัมพันธ์ข่าวสารข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่เป็นความจริงแก่ผู้บริโภคและรับรองรายการข้อมูลงบการเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัด ที่ไม่ถูกต้อง ให้รางวัลเกียรติคุณชั้นดีเลิศแก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัด เป็นการสนับสนุนและปกปิดการกระทำผิดของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัด เพื่อชักจูงบุคคลภายนอกให้หลงผิดในฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัด แล้วนำเงินไปฝาก จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะผู้บริโภคในการที่จะได้รับข้อมูลตามคำพรรณนาที่ถูกต้องและเพียงพอในการเข้าทำสัญญา แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อคดีพิพาทนี้ไม่มีลักษณะเป็นคดีปกครอง ประกอบกับตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองมีคำขอที่ระบุให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ชำระเงิน ๓๓,๔๗๔,๕๗๑.๘๘ บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นจำนวนเงินในต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. ๓๗๗๐/๒๕๕๖ ที่ศาลพิพากษาให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำกัด คืนเงินฝากให้แก่โจทก์ทั้งสอง กับเมื่อพิจารณาหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๗ ที่ระบุขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด รับผิดชำระเงินตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด คืนเงินฝากตามสัญญาฝากเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง ข้ออ้างและคำขออันเป็นเหตุตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสัญญาฝากเงินในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. ๓๗๗๐/๒๕๕๖ จึงเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสมศักดิ์ บุษยวิไลมาศ ที่ ๑ นางสาวสาริณี กุลธนพานิช ที่ ๒ โจทก์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ ๑ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share