แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ขอให้ห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ดังนั้นเอกสารที่จำเลยมอบอำนาจให้ตัวแทนในประเทศไทยมีสิทธิเด็ดขาดในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมิใช่เอกสารตามที่กฎหมายต้องการให้แนบมาท้ายฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง หากแต่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้ในการนำสืบเมื่อจำเลยปฏิเสธ แต่ในคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธในเรื่องดังกล่าวจึงต้องฟังดัง ที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศได้ตั้งให้ ป. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเป็นตัวแทนมีอำนาจทำการแทนจำเลยในเหตุแห่งคดีนี้ โดยระบุสถานที่ส่งบัตรหมายถึงจำเลยในประเทศไทยไว้ในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยว่าให้ส่งที่ตัวแทนตามพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 10 จึงถือได้ว่าจำเลยได้เลือกเอาภูมิลำเนาของ ป. ตัวแทนจำเลยเป็นภูมิลำเนาเฉพาะ การเพื่อกระทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 49 ดังนั้นโจทก์สามารถส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่ ป. ตัวแทนของจำเลย ณ ภูมิลำเนาของ ป.ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(2) หาใช่กรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(3)ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย การที่ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์ก็เนื่องจากนายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ กรณีจึงถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของตน โจทก์จึงมีอำนาจที่จะเสนอคดีของตน ต่อศาลได้ตามพ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 17 วรรคแรกประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 55.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้า YASAKA ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า YASAKIตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยและห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยวิธีให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ลอกเลียนแบบมาจากเครื่องหมายการค้าของจำเลย ทำให้ประชาชนผู้ไม่สันทัดภาษาต่างประเทศหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายการค้าจำเลย จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขัดขวางการจดทะเบียนของโจทก์ และไม่มีอำนาจบังคับนายทะเบียนให้ดำเนินการตามความต้องการของโจทก์ได้ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องชี้สองสถานและสืบพยาน จึงให้งดชี้สองสถานแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศและไม่ปรากฎว่าขณะยื่นฟ้องจำเลยได้เข้ามาในประเทศไทยชั่วคราว การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องก็มิได้ส่งให้จำเลยโดยตรง แต่ใช้วิธีเปิดหมาย ณ ที่ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า จำเลยมีนายประพันธ์ ไม้เจริญ เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจแทนจำเลยในเหตุแห่งคดีนี้ และแม้นายสมพงษ์สินประสิทธิ์ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยในการดำเนินการแก้คดีแทนจะได้ยื่นคำให้การสู้คดีเข้ามาแต่ก็มิได้ยื่นใบมอบอำนาจของจำเลยเข้ามาด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(3) อีกทั้งคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้ปรากฏว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด เพราะโจทก์ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยตาม มาตรา 55 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยได้เลือกเอาภูมิลำเนาของตัวแทนซึ่งอยู่ในประเทศไทยเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลย เพื่อจะส่งบัตรหมายในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลแพ่งที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) การส่งหมายให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของตัวแทนที่จำเลยเลือกเอาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในกรณ๊นี้จึงชอบแล้ว และโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 พิพากษาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า แม้นายประพันธ์ ไม้เจริญกับพวกอีก 2 คน จะเป็นผู้รับมอบอำนาจและมีสิทธิเด็ดขาดในการยื่นขอจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่ท้ายคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้มีหลักฐานแบลมาให้เห็นชัดว่า จำเลยมีอำนาจในการดำเนินการข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย ขอให้ห้ามจำเลยมอบอำนาจให้ตัวแทนในประเทศไทยดำเนินการในเรื่องนี้จึงมิใช่เอกสารตามที่กฎหมายต้องการ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว หากแต่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้ในการนำสืบเมื่อจำเลยปฏิเสธ แต่ในคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธคำฟ้องเรื่งอจำเลยตั้งนายประพัทธ์ เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจในเรื่องนี้ จึงต้องฟังดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้เข้ามาในประเทศ การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องมิได้ส่งแก่จำเลยโดยตรง แต่ใช้วิธีปิดหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 10ความว่า ท่านห้ามมิให้รับคำขอจดทะเบียนไว้พิจารณา เว้นแต่เจ้าของเครื่องหมายหรือตัวแทนมีสำนักงานการค้าตั้งอยู่เป็นที่ในประเทศไทยหรือมีสถานที่ส่งบัตรหมายถึงได้ในประเทศและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 49 ความว่า ถ้าได้เลือกเอาถิ่นใดเป็นภูมิลำเนาแต่เฉพาะการเพื่อจะทำการอันใดอันหนึ่ง ท่านให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาในการอันนั้น ได้ความว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศได้ตั้งให้นายประพัทธ์ ไม้เจริญ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเป็นตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในเหตุแห่งคดีนี้ โดยระบุสถานที่ส่งบัตรหมายถึงจำเลยในประเทศไทยไว้ในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยว่าให้ส่งที่ตัวแทน จึงถือได้ว่าจำเลยได้เลือกเอาภูมิลำเนาของนายประพัทธ์ ตัวแทนของจำเลย เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อกระทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังนั้นโจทก์ส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่นายประพัทธ์ตัวแทนจำเลยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474ทมาตรา 17 วรรคแรก ความว่า ถ้ามีบุคคลหลายคนต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันหรือเกือบเหมือนกัน ใช้สำหรับสินค้าเดียวหรือชนิดเดียวกันและต่างคนต่างร้องขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ๆ ท่านให้นายทะเบียนมีหนังสือลงทะเบียนไปรษณีย์บอกไปยังบรรดาผู้ขอจดทะเบียนทุกคนว่า ขอซ้ำกัน ให้ตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล คดีปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 130967 นายทะเบียนเห็นว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอเลขที่127481 นายทะเบียนไม่อาจจดทะเบียนให้โจทก์ได้จนกว่าจะได้ทำความตกลงกับจำเลยหรือนำคดีมาสู่ศาล ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์ ก็เนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เช่นเดียวกัน กรณีจึงถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์แล้วว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของตน โจทก์จึงมีอำนาจที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช2474 มาตรา 17 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.