คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5698/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าคำที่เลียนเสียงมาจากคำภาษาต่างประเทศเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงอันจะทำให้ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าคำภาษาต่างประเทศดังกล่าวมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้ในประเทศไทยด้วยว่า ถูกนำมาใช้ในความหมายหรือในลักษณะใด และต้องพิจารณาต่อไปว่าคำดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงจนถึงขนาดทำให้เมื่อสาธารณชนเห็นเครื่องหมายการค้านี้แล้วสามารถทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นได้ในทันที หรืออาจใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ แต่หากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการแล้วยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรในการพิจารณาจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น อาจถือไม่ได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำภาษาไทย ไม่มีความหมายตามพจนานุกรม คำดังกล่าวพ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้นคำว่า “INTOUCH” ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำว่า IN แปลว่า ใน ข้างใน และคำว่า TOUCH แปลว่า สัมผัส แตะต้อง ซึ่งสามารถแปลได้หลายความหมาย โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงเลือกแปลความหมายของคำดังกล่าวเช่นนั้น ประกอบกับการให้ความหมายของคำว่า IN TOUCH ก็เป็นในลักษณะของการสื่อความหมาย ไม่ใช่ความหมายโดยตรง การนำคำว่า IN และคำว่า TOUCH มารวมกันจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามีความหมายอย่างไร และแม้ตามพจนานุกรมดังกล่าวจะให้ความหมายของคำว่า Be in touch แปลว่า ติดต่อ แต่การติดต่อนั้นมีได้หลายรูปแบบ ทั้งการพบปะ พูดคุย หรือการติดต่อทางลายลักษณ์อักษร สาธารณชนในประเทศไทยเมื่อเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีหรือใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็ไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดใด การใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้ในลักษณะที่ทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 308/2558 และให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 802331 ของโจทก์ต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 25,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาเฉพาะในประเด็นที่ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า อินทัช เป็นเครื่องหมายการค้าคำอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ แบตเตอรี่คอมพิวเตอร์พกพา ชุดหูฟัง ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบตั้งโต๊ะ ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบติดรถยนต์ เครื่องวิทยุโทรศัพท์ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง จึงถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสาร โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงมาจากคำภาษาอังกฤษ โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว สำหรับใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 9 รายการสินค้า โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ แบตเตอรี่คอมพิวเตอร์พกพา ชุดหูฟัง ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบตั้งโต๊ะ ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบติดรถยนต์ เครื่องวิทยุโทรศัพท์ ตามคำขอเลขที่ 802331 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เนื่องจากไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธของทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “อินทัช” เลียนเสียงคำภาษาอังกฤษคำว่า IN TOUCH ซึ่งตามพจนานุกรม OXFORD RIVER BOOKS ENGLISH – THAI DICTIONARY คำว่า IN แปลว่า ใน ข้างใน เข้ามา คำว่า TOUCH แปลว่า สัมผัส แตะต้อง ติดต่อ รวมกันสื่อความหมายได้ว่า ติดต่อกันหรือเชื่อมต่อกัน เมื่อนำมาใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 9 รายการสินค้า โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ แบตเตอรี่คอมพิวเตอร์พกพา ชุดหูฟัง ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบตั้งโต๊ะ ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบติดรถยนต์ เครื่องวิทยุโทรศัพท์ ทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับติดต่อ นับว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าคำอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ แบตเตอรี่คอมพิวเตอร์พกพา ชุดหูฟัง ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบตั้งโต๊ะ ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบติดรถยนต์ เครื่องวิทยุโทรศัพท์ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง จึงถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคำที่เลียนเสียงมาจากคำภาษาต่างประเทศเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงอันจะทำให้ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) นั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่าคำภาษาต่างประเทศดังกล่าวมีคำแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้ในประเทศไทยด้วยว่า ถูกนำมาใช้ในความหมายหรือในลักษณะใด และต้องพิจารณาต่อไปว่าคำดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงจนถึงขนาดทำให้เมื่อสาธารณชนเห็นเครื่องหมายการค้านี้แล้วสามารถทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นได้ในทันที หรืออาจใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ แต่หากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการและยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรในการพิจารณาจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น อาจถือไม่ได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ซึ่งในข้อนี้โจทก์มีนางดารานีย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า คำว่า “อินทัช” เป็นคำพ้องเสียงมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “INTOUCH” โดยนำคำว่า IN และคำว่า TOUCH มาเขียนติดกัน กลายเป็นอักษรโรมันที่ไม่มีความหมายในภาษาอังกฤษและในพจนานุกรม ไม่อาจสื่อความหมายได้ว่า สัมผัสข้างใน หรือติดต่อกัน หรือเชื่อมต่อกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้ความหมายของคำว่า IN TOUCH ต่างกัน ทั้งเป็นการแปลความหมายในลักษณะของการสื่อความหมาย ไม่ใช่คำแปลความหมายโดยตรง ส่วนจำเลยทั้งสองมีนางมณีรัตน์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า พยานพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วเห็นว่า คำว่า อินทัช พ้องเสียงกับคำว่า IN TOUCH รวมกันสื่อความหมายได้ว่า การสัมผัสข้างใน เมื่อนำมาใช้กับสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นโทรศัพท์ที่มีการใช้งานด้วยการสัมผัสสินค้า ซึ่งเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้าโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และจำเลยมีนายธนกร เลขานุการคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า อินทัช เป็นคำที่เลียนเสียงคำภาษาอังกฤษคำว่า IN TOUCH ซึ่งตามสำเนาพจนานุกรม OXFORD RIVER BOOKS ENGLISH – THAI DICTIONARY คำว่า IN แปลว่า ใน ข้างใน เข้ามา คำว่า TOUCH แปลว่า สัมผัส แตะต้อง ติดต่อ รวมกันสื่อความหมายได้ว่า ติดต่อกันหรือเชื่อมต่อกัน จึงเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้า ของโจทก์เป็นคำภาษาไทย ไม่มีความหมายตามพจนานุกรม คำดังกล่าวพ้องเสียงกับคำภาษาอังกฤษที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้นคำว่า “INTOUCH” ซี่งตามสำเนาพจนานุกรม OXFORD RIVER BOOKS ENGLISH – THAI DICTIONARY ที่จำเลยนำสืบไม่ปรากฏความหมายของคำว่า INTOUCH และ IN TOUCH แต่อย่างใด แต่คำดังกล่าวเป็นคำผสมระหว่างคำว่า IN แปลว่า ใน ข้างใน และคำว่า TOUCH แปลว่า สัมผัส แตะต้อง ซึ่งสามารถแปลได้หลายความหมาย โดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลือกที่จะแปลความหมายของคำว่า IN TOUCH โดยนำความหมายของคำว่า IN และคำว่า TOUCH มารวมกันสื่อความหมายได้ว่า การสัมผัสข้างใน ส่วนคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเลือกแปลความหมายของคำว่า IN TOUCH โดยนำความหมายของคำว่า IN และคำว่า TOUCH มารวมกัน แต่สื่อความหมายได้ว่า ติดต่อกันหรือเชื่อมต่อกัน โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงเลือกแปลความหมายของคำดังกล่าวเช่นนั้น ประกอบกับการให้ความหมายของคำว่า IN TOUCH ตามที่จำเลยนำสืบก็เป็นในลักษณะของการสื่อความหมาย ไม่ใช่ความหมายโดยตรง การนำคำว่า IN และคำว่า TOUCH มารวมกันจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามีความหมายอย่างไร และแม้ตามพจนานุกรมดังกล่าวจะให้ความหมายของคำว่า Be in touch แปลว่า ติดต่อ แต่การติดต่อนั้นมีได้หลายรูปแบบ ทั้งการพบปะ พูดคุย หรือการติดต่อทางลายลักษณ์อักษร สาธารณชนในประเทศไทยเมื่อเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีหรือใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็ไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดใด การที่โจทก์นำคำว่า อินทัช มาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้ในลักษณะที่ทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบหรือเข้าใจได้ว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น ดังนั้น เครื่องหมายการค้า ของโจทก์เมื่อนำมาใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 9 รายการสินค้า โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล แบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ แบตเตอรี่คอมพิวเตอร์พกพา ชุดหูฟัง ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบตั้งโต๊ะ ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบติดรถยนต์ เครื่องวิทยุโทรศัพท์ จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/28074 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 308/2558 และให้จำเลยดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 802331 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share