คำวินิจฉัยที่ 78/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ทั้งหกเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยเอกชนและผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นจำเลยทั้งสี่และจำเลยร่วม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่และจำเลยร่วม ร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้เงินค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนทั้งหมดที่โจทก์ทั้งหกจ่ายให้แก่มหาวิทยาลัย และค่าเสียหายอื่นๆ พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐให้จัดบริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่มูลเหตุที่โจทก์ทั้งหกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่และจำเลยร่วมนั้น มิได้เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยไม่พิจารณาอนุมัติปริญญาให้แก่โจทก์ หรือฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่จัดการศึกษาให้มีมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหกฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการกิจการของมหาวิทยาลัยผิดพลาด จนกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตซึ่งส่งผลให้โจทก์ทั้งหกไม่ได้รับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยอีสานตามกำหนดเวลาที่ได้ให้คำมั่นไว้ กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีละเมิดทั่วไปซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๘/๒๕๕๘

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดพัทยา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพัทยาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ นายประเสริฐ พิทักษ์กรณ์ ที่ ๑ จ่าเอก มนตรี ผลบุญเรือง ที่ ๒ นางดลนภา สุขสวัสดิ์ ที่ ๓ นางรัตนาหรือธันยาสินี พลคง ที่ ๔ นางธัญรดี ปราศจาก ที่ ๕ นางสาววีระวรรณ จักกระหวัด ที่ ๖ โจทก์ ยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยอีสาน ที่ ๑ นางจรรยา แสวงการ ที่ ๒ นายอัษฎางค์ แสวงการ ที่ ๓ นายธนวัฒน์ น้อยหา ที่ ๔ จำเลย นายสุมนต์ สกลไชย จำเลยร่วม ต่อศาลจังหวัดพัทยา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๓๔๘๑/๒๕๕๕ หมายเลขแดงที่ ผบ. ๒๐๖๔/๒๕๕๗ ความว่าโจทก์ทั้งหกสมัครเข้าเป็นนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยอีสาน ณ ศูนย์การเรียนการสอนโรงเรียนเลิศปัญญา อำเภอสัตหีบ โดยชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด โจทก์ทั้งหกจึงเป็นผู้ได้รับบริการด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอีสานและเป็นผู้บริโภค แต่หลังจากที่โจทก์ทั้งหกเรียนจบตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยอีสานกำหนดไว้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งให้มหาวิทยาลัยอีสานอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน และคณะกรรมการฯ ได้มีประกาศให้นักศึกษาของจำเลยที่ ๑ ขึ้นทะเบียนนักศึกษากับคณะกรรมการฯ ซึ่งโจทก์ทั้งหกได้ดำเนินการตามที่มีประกาศแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน ทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหายเนื่องจากยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้สำเร็จการศึกษา ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ขึ้นทะเบียนโจทก์ทั้งหกเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๓ ก่อนวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ หากจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถกระทำได้ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน จำเลยที่ ๓ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน และจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้จัดการศูนย์การเรียนของมหาวิทยาลัยอีสาน ร่วมกันหรือแทนกันรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ชดใช้คืนเงินที่โจทก์ทั้งหกต้องเสียไปรวมเป็นเงิน ๗๗๘,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ทั้งหกพร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้มหาวิทยาลัยอีสานถูกเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย ทำให้โจทก์ทั้งหกไม่ได้วุฒิการศึกษาตามที่จำเลยทั้งสี่ให้คำมั่นไว้ เป็นเงินคนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลจังหวัดพัทยามีคำสั่งเรียกผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ ๑ เข้าเป็นจำเลยร่วม
จำเลยทั้งสี่และจำเลยร่วมให้การโดยสรุปว่า โจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากคดีนี้ไม่ใช่คดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ และความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ สิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งสี่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติโดยถูกต้องตามกฎหมายและครบถ้วน และได้นำเงินของโจทก์ไปใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสมประโยชน์ของโจทก์แล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนและไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาในอันที่จะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ นอกจากนี้หลังจากที่มหาวิทยาลัยอีสานถูกควบคุมและเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว จำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ทางกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยกำหนด โดยเฉพาะการดำเนินการตรวจสอบให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่ได้ศึกษาครบถ้วนตามหลักสูตรแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติให้จบและรับใบปริญญาบัตรภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอีสาน จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ อีกต่อไป คำขอบังคับของโจทก์ทั้งหกจึงเป็นอันพ้นวิสัยที่จะกระทำได้ คดีนี้ไม่เป็นคดีผู้บริโภคและอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสี่และจำเลยร่วมยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง มิใช่ศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดพัทยาพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐจึงไม่ใช่หน่วยงานทางปกครอง แม้ต่อมากระทรวงศึกษาธิการจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยของจำเลยที่ ๑ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๙๒ วรรคสอง บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนเป็นผู้ออกหนังสือรับรองผลการศึกษาของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีเหตุสมควรถูกเพิกถอนใบอนุญาตก็ตาม ก็เป็นบทบัญญัติแต่เพียงกำหนดว่าเมื่อมีเหตุที่จะถอนใบอนุญาตแล้ว ก็ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนเป็นผู้ใช้อำนาจออกหนังสือรับรองผลการศึกษาแทนจำเลยที่ ๑ เท่านั้น หาได้ทำให้จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนที่มาตรา ๙๓ บัญญัติว่า เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ให้ถือว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าวหมดสภาพการเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีบริษัทจำกัดมาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยอนุโลมนั้น ก็เป็นเพียงการจัดการชำระบัญชีในเรื่องทรัพย์สินและหนี้สินของจำเลยที่ ๑ ไม่ทำให้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองขึ้นมาได้ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาแก่โจทก์ทั้งหกตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐอันเป็นกิจการทางปกครองและใช้อำนาจทางปกครองในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตามที่กฎหมายมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการ ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นนักศึกษาจึงเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายระหว่างหน่วยงานทางปกครองที่จัดทำบริการสาธารณะทางปกครองกับผู้รับบริการสาธารณะทางปกครอง มิใช่เป็นความสัมพันธ์ตามสัญญาการให้บริการด้านการศึกษาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง หรือมีลักษณะเป็นการรับจัดทำการงานตามความหมายของนิยามคำว่า บริการ ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายแพ่งการที่โจทก์ทั้งหกกล่าวอ้างว่าได้ศึกษาครบทุกวิชาตามหลักสูตรแล้ว แต่ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย ประกอบกับคำสั่งเพิกถอนดังกล่าวระบุเหตุผลที่เพิกถอนใบอนุญาตฯ ว่า ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยไม่นำส่งเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัยอีสานและไม่นำเงินมาเพิ่มในกองทุนทั่วไปดังที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ทำให้สถานการณ์การเงินของมหาวิทยาลัยอีสานไม่เพียงพอที่จะจัดการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด อีกทั้งก่อนถูกควบคุม ระบบทะเบียนนักศึกษาเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือทำให้ไม่ทราบจำนวนนักศึกษาที่แน่นอน ข้อมูลผลการศึกษาของนักศึกษารายบุคคลไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ จำนวนอาจารย์มีสัดส่วนที่ไม่เพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด คณะกรรมการการอุดมศึกษาประชุมพิจารณาแล้วเชื่อว่า มหาวิทยาลัยอีสานไม่ดำเนินการหรือไม่ควรดำเนินกิจการต่อไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน กรณีจึงเป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ รับรองให้โจทก์ทั้งหกเป็นผู้สำเร็จการศึกษา อีกทั้งจำเลยที่ ๑ ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายในการให้บริการสาธารณะด้านการศึกษาไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ ทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้ โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่และจำเลยร่วม โดยอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีโจทก์ทั้งหกไม่ได้รับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยอีสานตามกำหนดเวลาที่ได้ให้คำมั่นไว้ ทั้งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีสาน ขอให้จำเลยทั้งสี่และจำเลยร่วม ร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้เงินค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนทั้งหมดที่โจทก์ทั้งหกจ่ายให้แก่มหาวิทยาลัย และค่าเสียหายอื่นๆ พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐให้จัดบริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีสภาสถาบันมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย เช่น การอนุมัติและการปรับปรุงหลักสูตร การอนุมัติและการเพิกถอนปริญญา ฯลฯ แต่มูลเหตุที่โจทก์ทั้งหกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่และจำเลยร่วมนั้น มิได้เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยไม่พิจารณาอนุมัติปริญญาให้แก่โจทก์ หรือฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่จัดการศึกษาให้มีมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหกฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการกิจการของมหาวิทยาลัยผิดพลาด จนกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตซึ่งส่งผลให้โจทก์ทั้งหกไม่ได้รับวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยอีสานตามกำหนดเวลาที่ได้ให้คำมั่นไว้ กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีละเมิดทั่วไปซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายประเสริฐ พิทักษ์กรณ์ ที่ ๑ จ่าเอก มนตรี ผลบุญเรือง ที่ ๒ นางดลนภา สุขสวัสดิ์ ที่ ๓ นางรัตนาหรือธันยาสินี พลคง ที่ ๔ นางธัญรดี ปราศจาก ที่ ๕ นางสาววีระวรรณ จักกระหวัด ที่ ๖ โจทก์ มหาวิทยาลัยอีสาน ที่ ๑ นางจรรยา แสวงการ ที่ ๒ นายอัษฎางค์ แสวงการ ที่ ๓ นายธนวัฒน์ น้อยหา ที่ ๔ จำเลย นายสุมนต์ สกลไชย จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share