คำวินิจฉัยที่ 59/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการ กระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการจำกัดประเภทคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองไว้เฉพาะการกระทำอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อหน่วยงานโจทก์ แต่มิใช่การกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นความรับผิดทางละเมิดของจำเลยต่อโจทก์จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังเช่นกรณีเอกชนกระทำละเมิดต่อเอกชน โดยมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ใหับังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการออกคำสั่งเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในกรณีนี้จึงไม่ถือเป็น คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อจำเลยเพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ได้รับความเสียหาย จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่นอกการปฏิบัติหน้าที่คือศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๙ /๒๕๕๘

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลแขวงปทุมวัน
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงปทุมวันโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน โจทก์ ยื่นฟ้อง นางวาสนา คำพันธุ์ จำเลย ต่อศาลแขวงปทุมวัน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ม. ๑๐๗/๒๕๕๗ ความว่า จำเลยเป็นข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป ๖ ระดับชำนาญการ ต่อมาจำเลยได้รับแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาคประจำสำนักงานพลังงานจังหวัดลพบุรี และเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าบ้านของนางสุวรรณ เพชรน้ำดี กำหนดระยะเวลาเช่า ๑ ปี ๘ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ ค่าเช่าเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ภายหลังจากทำสัญญาเช่า จำเลยได้นำใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวมาขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านจากโจทก์ไปเป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท ต่อมาสำนักตรวจสอบพิเศษภาค ๑ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจพบว่าการเบิกค่าเช่าบ้านของจำเลยเป็นเท็จ กล่าวคือจำเลยได้นำใบเสร็จที่นางสุวรรณผู้ให้เช่าออกให้ไว้ล่วงหน้าในขณะทำสัญญาเช่ามาใช้เป็นหลักฐานประกอบการเบิกเงินค่าเช่าบ้าน โดยจำเลยมิได้พักอาศัยอยู่จริงในบ้านเช่าและไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ให้เช่า อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าบ้านตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๒ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๕๓ การกระทำของจำเลยเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าจำเลยกระทำละเมิด ซึ่งมิใช่การกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ให้กับโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ต่อมาปลัดกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีคำสั่งไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของจำเลย ทั้งนี้ ต่อมาโจทก์ได้มีคำสั่งลงโทษไล่จำเลยออกจากราชการ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้รับเงินค่าเช่าบ้านไปจากโจทก์
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามฟ้องนั้น ขณะเกิดเหตุจำเลยปฏิบัติงาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การเบิกเงินค่าเช่าบ้านเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย จำเลยกระทำ โดยไม่มีเจตนาทุจริตหรือจงใจปลอมเอกสารดังที่โจทก์ฟ้อง เมื่อมีการวินิจฉัยของโจทก์ในเรื่องค่าเช่าบ้าน จำเลยเห็นว่ากระบวนการวินิจฉัยของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้นำเรื่องดังกล่าว ยื่นฟ้องโจทก์ ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๐๕/๒๕๕๖ เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องอีกจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยมิได้กระทำผิด จึงไม่ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่า การฟ้องคดีของโจทก์ เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมจากจำเลย อ้างว่าจำเลยใช้สิทธิเบิกเงินค่าเช่าบ้านไปจากโจทก์โดยผิดกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของจำเลย มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นเหตุฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้วไม่ชำระค่าสินไหมทดแทน กรณีมิใช่คดีที่พิพาทเกี่ยวกับความรับผิดในการกระทำตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด หรือเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นใด หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยศาลต้องพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่การอนุมัติให้เบิกเงินค่าเช่าบ้านของข้าราชการในสังกัดของโจทก์เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการของโจทก์ ตามข้อ ๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๙ การอนุมัติเบิกเงินค่าเช่าบ้านให้แก่จำเลยจึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือ มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่น ตามนัยมาตรา ๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าการเบิกเงินค่าเช่าบ้านของจำเลยเป็นเท็จ การที่โจทก์ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน ตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ทำการพิจารณาเรื่องทางปกครอง เรื่องเดียวกันนั้นอีกครั้งหนึ่ง และมีการพิจารณาตัดสินใจในเนื้อหาของเรื่องนั้นแตกต่างจากเดิม โดยระงับการจ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้แก่จำเลย และเพิกถอนคำสั่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้แก่จำเลยที่ได้กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิ ตามนัยมาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้น คำสั่งของโจทก์จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งผลในทางกฎหมายเมื่อมีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ที่มีลักษณะเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ โดยให้มีผลย้อนหลังนั้น ผู้รับคำสั่งทางปกครองต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปตามหลักลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถ้าผู้รับคำสั่งทางปกครองไม่อาจอ้างความเชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครอง ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์เต็มจำนวน ตามนัยมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แม้การฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในกรณีนี้จะต้องนำบทบัญญัติว่าด้วย ลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๑ วรรคสี่ แต่ก็มิได้ทำให้การดำเนินการของโจทก์เป็นการใช้สิทธิในฐานะเอกชนแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้การฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ ศาลจึงต้องวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของโจทก์ที่มีการอนุมัติให้จ่ายเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการให้แก่จำเลยและคำสั่งของโจทก์ที่เรียกคืนเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการจากจำเลยและจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดในการคืนเงินค่าเช่าบ้านข้าราชการที่ได้รับไป ให้แก่โจทก์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามนัย มาตรา ๕๑ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นสำคัญ หาใช่ต้องนำหลักเกณฑ์ เรื่องการติดตามและต้องเอาทรัพย์คืน ตามมาตรา ๑๓๓๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับ ความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจาก การใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นเอกชน อ้างว่า จำเลยเป็นข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน จำเลยได้รับแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาคและภายหลังจำเลยได้ทำสัญญาเช่าบ้านของนางสุวรรณ เพชรน้ำดี ต่อมา สำนักตรวจสอบพิเศษภาค ๑ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจพบว่าการเบิกค่าเช่าบ้านของจำเลยเป็นเท็จ โจทก์จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าจำเลยกระทำละเมิด ซึ่งมิใช่การ กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์จึงมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท ให้กับโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ มีคำสั่งไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ของจำเลย ทั้งนี้ ต่อมาโจทก์ได้มีคำสั่งลงโทษไล่จำเลยออกจากราชการ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามฟ้องนั้น ขณะเกิดเหตุจำเลยปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การเบิกเงินค่าเช่าบ้านเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย จำเลยกระทำโดยไม่มีเจตนาทุจริตหรือจงใจปลอมเอกสารดังที่โจทก์ฟ้อง เมื่อมีการวินิจฉัยของโจทก์ในเรื่องค่าเช่าบ้าน จำเลยเห็นว่ากระบวนการวินิจฉัยของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการจำกัดประเภทคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองไว้เฉพาะการกระทำอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อหน่วยงานโจทก์ แต่มิใช่การกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นความรับผิดทางละเมิดของจำเลยต่อโจทก์จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังเช่นกรณีเอกชนกระทำละเมิดต่อเอกชน โดยมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการออกคำสั่งเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในกรณีนี้จึงไม่ถือเป็น คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อจำเลยเพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ได้รับความเสียหาย จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่นอกการปฏิบัติหน้าที่คือศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน โจทก์ นางวาสนา คำพันธุ์ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share