แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยเป็นพลเรือนกระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร จำเลยมีกระสุนปืน ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และซุกซ่อนกระสุนปืนดังกล่าวไว้ในตะกร้าหลังตู้เสื้อผ้าโดยไม่มีเจตนาที่จะนำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่และจำเลยได้เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นว่า ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บัญญัติให้ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืนฯ ที่ใช้เฉพาะการสงคราม และให้ผู้ที่มีอาวุธปืนฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ ความผิดฐานมีกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเจตนาที่จะนำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ นั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ซึ่งศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ ได้พิจารณายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๔๕ ส่วนความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนั้น ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานมีกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเจตนาที่จะนำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ จึงเป็นการกระทำความผิดที่ไม่อยู่ในบังคับตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนจึงไม่ใช่คดีที่เกี่ยวโยงกันอันอยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๗/๒๕๕๘
วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช ๒๔๕๗
ศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครนายก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ โดยสำนักตุลาการทหาร กรมพระธรรมนูญ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายธวัชชัย นิลโต จำเลย ต่อศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๕ ก./๒๕๕๗ ความว่า จำเลยเป็นพลเรือนกระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารเพื่อให้การรักษาความสงบและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ข้อ ๒. และการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กับเพื่อการรักษาความสงบและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยกระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ก. เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน อันเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยมีกระสุนปืน ขนาด ๑๒ จำนวน ๘ นัด ซึ่งจำเลยมีกระสุนปืนดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
ข. ตามวันเวลาดังกล่าวตามข้อ ก. จำเลยมีกระสุนปืนขนาด ๑๒ จำนวน ๘ นัด ซึ่งจำเลยมีกระสุนปืนดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ โดยจำเลยซุกซ่อนกระสุนปืนดังกล่าวไว้ในตะกร้าหลังตู้เสื้อผ้า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะนำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ทั้งนี้ จำเลยทราบประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดกระสุนปืนดังกล่าวเป็นของกลางและใช้ทดลองยิงหมดไปในการตรวจพิสูจน์
ค. ตามวันเวลาดังกล่าวตามข้อ ก. และข. จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ โดยวิธีสูดดมเอาควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๔ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ ข้อ ๖ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๓๒ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อ ๑ และข้อ ๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ และมาตรา ๙๑ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๖ กับขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๙๔๗/๒๕๕๗ ของศาลจังหวัดนครนายก
ศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ พิจารณาแล้วเห็นว่า การบรรยายฟ้องในข้อ ก. และ ข. ดังกล่าวเป็นการบรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาและรายละเอียดอันเป็นองค์ประกอบในการกระทำผิดที่ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และเห็นควรยกฟ้องโจทก์ในข้อ ก. และ ข. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๔๕ สำนวนคดีนี้จึงเหลือแต่เฉพาะคำฟ้องในการกระทำผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ โดยฝ่าฝืนกฎหมาย ในข้อ ค. แต่ด้วยเหตุที่จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนซึ่งการกระทำผิดตามฟ้องข้อนี้มิใช่ประเภทความผิดตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หรือความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงคราม ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่ให้อำนาจศาลทหารพิจารณาพิพากษา คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดนครนายกพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ในข้อที่ ๑ ว่าให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต ส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ หากฝ่าฝืนประกาศฉบับดังกล่าวถือเป็นความผิดและมีโทษตามประกาศ ข้อ ๓ คือระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ถูกกำหนดให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร อันเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ข้อ ๒ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประกาศว่า ถ้าคดีใดประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน แม้แต่ละอย่างจะเป็นความผิดได้ในตัวเองและไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาได้ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ก. ว่า เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน อันเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยมีกระสุนปืน ขนาด ๑๒ จำนวน ๘ นัด ซึ่งจำเลยมีกระสุนปืนดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ บรรยายฟ้องในข้อ ข. ว่า ตามวันเวลาดังกล่าวตามข้อ ก. จำเลยมีกระสุนปืนขนาด ๑๒ จำนวน ๘ นัด ซึ่งจำเลยมีกระสุนปืนดังกล่าวอยู่ก่อนวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ โดยจำเลยซุกซ่อนกระสุนปืนดังกล่าวไว้ในตะกร้าหลังตู้เสื้อผ้า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะนำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/๒๕๕๗ เรื่อง ให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ การบรรยายฟ้องของโจทก์ลักษณะดังกล่าวเพื่อระบุให้เห็นว่าจำเลยมีกระสุนปืนขนาด ๑๒ จำนวน ๘ นัด โดยไม่ได้รับอนุญาต อยู่ก่อนวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ เรื่อยมาจนถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ อันเป็นวันที่โจทก์พบการกระทำความผิด แล้วจำเลยไม่ได้นำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/๒๕๕๗ ข้อ ๑. ซึ่งต้องระวางโทษตามข้อ ๓. คดีตามฟ้องข้อ ข. จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารดังที่กำหนดไว้ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ข้อ ๒.
เมื่อพิจารณาคำฟ้องข้อ ค. ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามวันเวลาในฟ้องข้อ ก. และ ข. จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ โดยวิธีสูดดมควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เห็นได้ว่า แม้ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนจะเป็นความผิดได้ในตัวเองและจำเลยเป็นพลเรือนซึ่งกระทำความผิดโดยลำพังตามปกติแล้วจะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่ฟ้องของโจทก์ซึ่งบรรยายว่า ตามวันเวลาในฟ้องข้อ ก. ข้อ ข. และข้อ ค. เป็นวันเวลาเดียวกัน จำเลยกระทำความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่นำเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามลำดับ มีลักษณะเป็นคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน เมื่อความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่นำเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามฟ้องข้อ ข. อยู่ในอำนาจศาลทหาร ดังที่กล่าวข้างต้น อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ ยกฟ้องโจทก์ตามฟ้อง ข้อ ก. และ ข. โดยให้เหตุผลว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาและรายละเอียดอันเป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิดไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี การยกฟ้องดังกล่าวเท่ากับว่าศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว ดังนั้นฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ในข้อ ค. ซึ่งเป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวโยงกันกับความผิดในฟ้องข้อ ข. ย่อมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารอันเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยเป็นพลเรือนกระทำความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้เป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารเพื่อให้การรักษาความสงบและแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก่อนวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำเลยมีกระสุนปืน ขนาด ๑๒ จำนวน ๘ นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และซุกซ่อนกระสุนปืนดังกล่าวไว้ในตะกร้าหลังตู้เสื้อผ้าโดยไม่มีเจตนาที่จะนำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ และจำเลยได้เสพเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท ๑ โดยวิธีสูดดมเอาควันเข้าสู่ร่างกาย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษและนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกคดีหมายเลขแดงที่ ๒๙๔๗/๒๕๕๗ ของศาลจังหวัดนครนายก เห็นว่า ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ข้อ ๒. บัญญัติให้ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ เรื่องให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะการสงคราม ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/๒๕๕๗ เรื่องให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ความผิดฐานมีกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเจตนาที่จะนำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ซึ่งศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ ได้พิจารณายกฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๔๕
ส่วนความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนั้น ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่องคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ บัญญัติให้คดีที่มีข้อหาว่าการกระทำความผิดบางอย่างอยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น คดีดังกล่าวอาจมีข้อหาอื่นที่มีความผิดในตัวเอง และมิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารรวมอยู่ สมควรให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในข้อหานั้นด้วย ซึ่งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกับความผิดฐานมีกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเจตนาที่จะนำกระสุนปืนดังกล่าวส่งมอบต่อนายทะเบียนท้องที่ จึงเป็นการกระทำความผิดที่ไม่อยู่ในบังคับตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่องคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๐/๒๕๕๗ เรื่องให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะการสงคราม ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖๒/๒๕๕๗ เรื่องให้ผู้ที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต นำส่งมอบ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนจึงไม่ใช่คดีที่เกี่ยวโยงกันอันอยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ โจทก์ นายธวัชชัย
นิลโต จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ