คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3138/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้บ้านพิพาทจะปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์บางส่วนและบนที่ดินของกรมธนารักษ์บางส่วนซึ่งโจทก์เป็นผู้เช่ามาจากกรมธนารักษ์โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและจำเลยร่วมที่ไม่มีสิทธิเข้าอยู่ในที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เช่ามาได้ โดยมิต้องได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องแทนกรมธนารักษ์แต่อย่างใด และแม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจะได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาทให้แก่ทายาทไปก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่มูลคดีที่พิพาทกันได้เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง โจทก์มีอำนาจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยและจำเลยร่วมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมตลอดถึงการบังคับคดีไปตามผลของคำพิพากษาด้วย จำเลยร่วมซื้อบ้านพิพาทจากจำเลยในลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเอง ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การซื้อขายบ้านพิพาทย่อมเป็นโมฆะ บ้านพิพาทยังเป็นของจำเลย จำเลยซึ่งปลูกบ้านพิพาทบนที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เช่ามาโดยไม่มีสิทธิจึงมีหน้าที่ต้องรื้อถอนบ้านพิพาทและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ และการที่จำเลยร่วมได้เข้ายึดถือครอบครองบ้านพิพาทโดยได้จัดให้ผู้อื่นเช่าและเข้าอยู่ในบ้านพิพาท เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ แม้การซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมจะเป็นโมฆะ จำเลยร่วมก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย คำขอของโจทก์ที่ว่า ถ้าจำเลยไม่รื้อถอนบ้านพิพาทออกไปจากที่ดินโจทก์ ก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนแทนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 296 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายธวัช ขำศรี ได้ยื่นฟ้องหม่อมหลวงหญิง ทินกร ณ อยุธยาต่อศาลชั้นต้น ให้รื้อถอนบ้านเลขที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่โฉนดเลขที่92712 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ของนายธวัช ขำศรี เจ้ามรดก ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความคดีถึงที่สุด ชั้นบังคับคดีจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 1 โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อไม่ใช่บริวารของหม่อมหลวงหญิง ทินกร ณ อยุธยา จึงไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดินประกอบกิจการค้าเดือนละ 10,000 บาทนับแต่เดือนกรกฎาคม 2525 เป็นต้นมาถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาทหรือโจทก์อาจจะนำที่ดินออกให้เช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาทและจะได้ค่าหน้าดินในการให้เช่าไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท ขอให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 1 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 92712แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ของนายธวัชขำศรี ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่รื้อก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อแทน โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะรื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่ดิน
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อบ้านพิพาทจากพันเอกประลอง พลจันทร์โดยเข้าใจว่าบ้านปลูกอยู่บนที่ดินของทหาร ต่อมาจำเลยได้ขายบ้านให้แก่นายสุรชัยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2525 จำเลยจึงไม่มีสิทธิรื้อถอนบ้านพิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่เกินเดือนละ 100 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างสืบพยานจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกนายสุรชัย ตั้งไพฑูรย์สกุล เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ซื้อบ้านพิพาทจากจำเลยในราคา 65,000 บาท โดยสุจริต กำหนดจะไปจดทะเบียนภายในเดือนมิถุนายน 2526 ซึ่งโจทก์ก็ทราบดี จำเลยร่วมให้นางสุรีย์ศิริหงษ์ และนางลำยอง แย้มกลิ่น เช่าอยู่ร่วมกับคนเช่าเดิมในราคาค่าเช่าเดือนละ 400 บาท เป็นเวลา 3 ปี โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาท แต่ที่ดินเป็นของกรมธนารักษ์ กับนางสาววราพร ขำศรี นายฉัตรชัย ขำศรี และเด็กหญิงราวินีขำศรี โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินให้ฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของนายธวัช ขำศรี ซึ่งหมดอำนาจไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน เมษายน 2523 จึงไม่ชอบโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย หากโจทก์นำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าจะได้ผลประโยชน์เดือนละไม่เกิน 100 บาท และจะได้รับค่าหน้าดินไม่เกินตารางวาละ 500 บาท จำเลยร่วมไม่ใช่บริวารของจำเลยโจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีนี้จึงไม่ชอบขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมรื้อถอนบ้านเลขที่ 1 ซอยสุขจิต ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนในเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 92712แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ของนายธวัช ขำศรีถ้าจำเลยและจำเลยร่วมไม่รื้อก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อแทน โดยให้จำเลยและจำเลยร่วมเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 7 มิถุนายน 2526) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยและจำเลยร่วม ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อีกเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและจำเลยร่วมจะรื้อบ้านออกจากที่ดิน กับให้จำเลยและจำเลยร่วมชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ฎีกาจำเลยและจำเลยร่วมมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยหลายประเด็น ซึ่งในประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ฎีกาที่ว่าฟ้องเคลือบคลุมนั้นเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ก็ไม่วินิจฉัยให้ ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับวินิจฉัยว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ ส่วนอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยกับจำเลยร่วมไม่ได้นำสืบแก้ว่า บ้านพิพาทปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์บางส่วนและบนที่ดินของกรมธนารักษ์บางส่วนซึ่งโจทก์เป็นผู้เช่ามาจากกรมธนารักษ์ ปรากฏตามสัญญาเช่าและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.3 จ.4 เมื่อฟังได้ดังกล่าวโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่บุคคลที่ไม่มีสิทธิเข้าอยู่ในที่ดินของโจทก์และที่ดินที่โจทก์เช่ามาได้โดยมิต้องได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องแทนกรมธนารักษ์แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยและจำเลยร่วมได้ประเด็นต่อไปที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้ขายบ้านพิพาทให้จำเลยร่วมแล้ว จำเลยจึงย่อมพ้นความผิดไม่มีหน้าที่ต้องรื้อบ้านและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมจำเลยได้คัดค้านการบังคับคดีของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2305/2525ของศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของบ้านพิพาทเมื่อโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยกลับอ้างว่าได้ขายบ้านพิพาทให้แก่จำเลยร่วม จำเลยได้นำสืบว่า จำเลยได้ขายบ้านพิพาทให้จำเลยร่วมได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันเองตามเอกสารหมาย ล.1โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจากการนำสืบของจำเลยได้ความว่าจำเลยร่วมซื้อบ้านในลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์มิได้มีการรื้อถอนไปและได้ให้ผู้อื่นเช่าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวด้วยการซื้อขายบ้านพิพาทจึงเป็นโมฆะบ้านพิพาทยังเป็นของจำเลยจำเลยมีหน้าที่ต้องรื้อถอนบ้านพิพาทและชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในปัญหาเดียวกันนี้จำเลยร่วมฎีกาว่า เมื่อฟังว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของบ้านพิพาทอยู่จำเลยร่วมก็ไม่ต้องรับผิดด้วยนั้น เห็นว่าจำเลยร่วมให้การรับว่าเป็นผู้ซื้อบ้านพิพาทจำเลย แม้การซื้อขายเป็นโมฆะแต่จำเลยร่วมก็ได้เข้ายึดถือครอบครองบ้านพิพาทโดยได้จัดให้ผู้อื่นเช่าและเข้าอยู่ในบ้านพิพาทเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยแม้ในประเด็นข้อพิพาทไม่ได้กำหนดให้จำเลยร่วมต้องรับผิดด้วยเพราะประเด็นข้อพิพาทได้กำหนดขึ้นก่อนที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่จำต้องกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ตามที่จำเลยร่วมฎีกาแต่อย่างใด ส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่า บ้านพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 30ตารางวาที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปเดือนละ 500 บาท นั้นพิเคราะห์แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว ส่วนประเด็นเรื่องที่โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาทให้แก่ทายาทเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ก่อนที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2528 โจทก์หมดอำนาจการจัดการทรัพย์ดังกล่าวที่จะฟ้องคดีนี้ เห็นว่า แม้โจทก์จะได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ทายาทไปแล้วก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ตามแต่มูลคดีพิพาทในคดีนี้ได้เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องแล้วโจทก์จึงมีอำนาจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยและจำเลยร่วมจนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมตลอดถึงการบังคับคดีไปตามผลของคำพิพากษาด้วย ส่วนประเด็นอื่น ๆที่จำเลยและจำเลยร่วมฎีกามานั้น เห็นว่า ล้วนแต่เป็นฎีกาที่หาสาระไม่ได้เพราะจำเลยและจำเลยร่วมเข้าอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยมิชอบ บ้านพิพาทปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์และบนที่เช่าของโจทก์ จึงต้องรื้อถอนออกไปทั้งหลังตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองและการที่จำเลยร่วมให้ผู้อื่นเข้าอยู่ในบ้านพิพาทบุคคลนั้นย่อมเป็นบริวารของจำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงไม่อาจยกเป็นเหตุแก้ตัวที่จะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น แต่ตามคำขอของโจทก์ที่ว่า ถ้าจำเลยไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนแทนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 296 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ชอบที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามบทบัญญัติดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ว่าถ้าจำเลยและจำเลยร่วมไม่รื้อถอนก็ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยและจำเลยร่วมเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 500 บาทแทนโจทก์

Share