แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนที่พนักงานสอบสวนทำไว้โดยชอบย่อมใช้เป็นหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 การที่ศาลนำคำให้การดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยพยานจำเลย เพื่อแสดงให้เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาแตกต่างจากคำให้การชั้นสอบสวนเท่านั้น หาได้อาศัยเพื่อนำมาลงโทษจำเลยไม่ กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการอ้างจำเลยเป็นพยานโจทก์ จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 232
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ให้จำคุก 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อ 4 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับมาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ยกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนมาฟังลงโทษจำเลยนั้น เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 พิเคราะห์แล้วคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไว้โดยชอบย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 คดีนี้โจทก์ได้อ้างสรรพเอกสารในสำนวนการสอบสวนไว้ในบัญชีพยานแล้ว ในระหว่างพิจารณาโจทก์ก็ได้ส่งบันทึกคำให้การของจำเลยชั้นสอบสวนต่อศาล ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์เพียงแต่นำเอาคำให้การดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยพยานจำเลย เพื่อแสดงให้เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวนเท่านั้น ศาลอุทธรณ์หาได้อาศัยแต่เพียงคำให้การในชั้นสอบสวนมาลงโทษจำเลยแต่อย่างใดไม่ กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการอ้างจำเลยเป็นพยานของโจทก์ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ดังที่จำเลยฎีกาศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยรับซื้อปลาหมึกของกลางไว้ในราคาถูกก็เพื่อขายให้แก่นักเรียนในโรงเรียนของจำเลยเท่านั้น ทั้งจำเลยสำเร็จการศึกษาครุศาสตร์บัณฑิตมีอาชีพเป็นครู และเป็นผู้จัดการโรงเรียนสำราญวิทยา ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน เพื่อให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์