แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
การเสนอปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มีได้ ๒ กรณีคือ การที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลนั้นต่อศาลที่รับฟ้องตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กับอีกกรณีหนึ่งคือการยื่นคำร้องโดยตรงต่อคณะกรรมการ ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๔ ดังนั้น การที่จำเลยในคดีแพ่งของศาลยุติธรรมยื่นคำร้องโดยตรงต่อคณะกรรมการ ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีของศาลปกครองนครศรีธรรมราช หมายเลขแดงที่ ๑๖๗-๑๗๖/๒๕๔๘ อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง จึงไม่ชอบ
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๒๗/๒๕๕๘
วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘
เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติ
ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
–
ระหว่าง
–
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
นายดุสิต มายะการ ที่ ๑ นายศัลยพงษ์ ตัณฑ์จยะ ที่ ๒ นางพิมพ์พรรณ ขำสังข์ ที่ ๓ นายสุชาติ มายะการ ที่ ๔ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีของศาลปกครองนครศรีธรรมราช หมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๒/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๔-๑๔๕/๒๕๔๖ ที่ ๑๘๐/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๒-๒๑๓/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๕-๒๑๗/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๑๖๗-๑๗๖/๒๕๔๘ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
ข้อเท็จจริงในคดี
นายดุสิต มายะการ ที่ ๑ นายศัลยพงษ์ ตัณฑ์จยะ ที่ ๒ นางพิมพ์พรรณ ขำสังข์ ที่ ๓ นายสุชาติ มายะการ ที่ ๔ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๔๖๕ แต่ได้ถูกนางสุวรรณา สงวนพงษ์ นายบุ่นเก้ง ศรีแสนสุชาติ นายหีด บัวชนิด ในฐานะเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๘๑ ที่ ๓๘๒ ที่ ๓๘๓ และที่ ๓๘๕ โจทก์ ยื่นฟ้องผู้ร้องทั้งสี่ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพังงา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๖๕/๒๕๕๗ ที่ ๑๖๖/๒๕๕๗ และที่ ๑๖๗/๒๕๕๗ โดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสี่ จำเลย นำชี้รังวัดออกโฉนดทับที่ดิน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ โจทก์คัดค้านการรังวัดแล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนเปรียบเทียบและมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ทั้งนี้ โจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. ที่ออกตามคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราชในคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๒/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๔-๑๔๕/๒๕๔๖ ที่ ๑๘๐/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๒-๒๑๓/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๕-๒๑๗/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๑๖๗-๑๗๖/๒๕๔๘ ที่ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเหมือง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออก น.ส. ๓ ก. ให้แก่ผู้ฟ้องคดีในแต่ละคดี ซึ่งผู้ร้องทั้งสี่เห็นว่าศาลปกครองนครศรีธรรมราชไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม น.ส. ๓ ก. ที่ออกตามคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราชซึ่งโจทก์นำมากล่าวอ้างและฟ้องร้องผู้ร้องทั้งสี่ต่อศาลจังหวัดพังงาจึงเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องทั้งสี่จึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีของศาลปกครองนครศรีธรรมราช หมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๒/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๔-๑๔๕/๒๕๔๖ ที่ ๑๘๐/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๒-๒๑๓/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๕-๒๑๗/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๑๖๗-๑๗๖/๒๕๔๘ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง หากเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ขอให้คณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช กับขอให้เพิกถอนการออก น.ส. ๓ ก. ที่ออกตามคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราชในคดีดังกล่าวด้วย
อนึ่ง ก่อนยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯ ผู้ร้องทั้งสี่ได้เคยยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพังงาขอให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการฯ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีของศาลปกครองนครศรีธรรมราช หมายเลขแดงที่ ๑๖๗-๑๗๖/๒๕๔๘ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง โดยมีข้อเท็จจริงเดียวกับคำร้องนี้ แต่ศาลจังหวัดพังงามีคำสั่งให้ยกคำร้อง ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำหรับคดีของศาลปกครองนครศรีธรรมราช ผู้ถูกฟ้องคดีในคดีดังกล่าวได้ยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช ส่วนคดีแพ่งของศาลจังหวัดพังงา หมายเลขดำที่ ๑๖๕/๒๕๕๗ ที่ ๑๖๖/๒๕๕๗ และที่ ๑๖๗/๒๕๕๗ อยู่ระหว่างพิจารณา
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง ผู้ร้องทั้งสี่อ้างว่าได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ถูกเจ้าของที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ น.ส. ๓ ก. ยื่นฟ้องผู้ร้องทั้งสี่ ต่อศาลจังหวัดพังงา ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสี่ยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน โดยโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส. ๓ ก. ที่ออกตามคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราชในคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๒/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๔-๑๔๕/๒๕๔๖ ที่ ๑๘๐/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๒-๒๑๓/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๕-๒๑๗/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๑๖๗-๑๗๖/๒๕๔๘ ที่ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาท้ายเหมือง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออก น.ส. ๓ ก. ให้แก่ผู้ฟ้องคดีในแต่ละคดี ซึ่งผู้ร้องทั้งสี่เห็นว่าศาลปกครองนครศรีธรรมราชไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม น.ส. ๓ ก. ที่ออกตามคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราชซึ่งนำมากล่าวอ้างและฟ้องร้องผู้ร้องทั้งสี่ต่อศาลจังหวัดพังงาจึงเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องทั้งสี่จึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีของศาลปกครองนครศรีธรรมราชดังกล่าว เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง หากเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ขอให้คณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช กับขอให้เพิกถอนการออก น.ส. ๓ ก. ที่ออกตามคำพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราชในคดีดังกล่าวด้วย
พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลกรณีมีปัญหาว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดไว้ในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้อง และกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอปัญหากรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกันไว้ในมาตรา ๑๔ ว่า บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯ เพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีที่คณะกรรมการฯ จะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้จึงต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ เมื่อผู้ร้องทั้งสี่ แม้จะเป็นคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดพังงา แต่มายื่นคำร้องโดยตรงต่อคณะกรรมการฯ โดยอ้างว่าคดีของศาลปกครองนครศรีธรรมราช หมายเลขดำที่ ๑๔๐/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๒/๒๕๔๖ ที่ ๑๔๔-๑๔๕/๒๕๔๖ ที่ ๑๘๐/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๒-๒๑๓/๒๕๔๖ ที่ ๒๑๕-๒๑๗/๒๕๔๖ หมายเลขแดงที่ ๑๖๗-๑๗๖/๒๕๔๘ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง จึงมิใช่การเสนอปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดไว้ กล่าวคือ มิใช่กรณียื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องจะต้องยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลนั้นต่อศาลที่รับฟ้อง และมิใช่กรณียื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลที่ขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๔ ซึ่งบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกันอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯ ได้ ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของนายดุสิต มายะการ ที่ ๑ นายศัลยพงษ์ ตัณฑ์จยะ ที่ ๒ นางพิมพ์พรรณ ขำสังข์ ที่ ๓ นายสุชาติ มายะการ ที่ ๔ ผู้ร้อง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้อง
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ