คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2255/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพนักงานอัยการได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมอัยการได้พิจารณาเห็นว่า ควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ก็รับรองให้อุทธรณ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับรองในวันที่ยื่นอุทธรณ์ เพียงแต่ให้มีคำรับรองปรากฏให้เห็นขณะที่มีการยื่นอุทธรณ์ และถ้อยคำที่ใช้ให้มีความหมายให้เห็นว่าเป็นการรับรองข้อที่ต้องห้ามก็ชอบแล้ว ส่วนเหตุผลในการรับรองนั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบว่าจะต้องปรากฏในคำรับรองนั้นด้วยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ที่ว่าการบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราเป็นภัยอันตรายเพราะรัฐบาลต้องใช้งบประมาณสร้างถนนในวงเงินที่สูงขึ้น…นั้นเป็นการอ้างเหตุผลเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำผิดที่อ้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะถือว่าไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นเป็นการอุทธรณ์ที่ไม่ชอบหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้รถยนต์บรรทุกซึ่งกฎหมายกำหนดให้บรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน 21,000 กิโลกรัม บรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดดังกล่าว16,130 กิโลกรัม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 294 ข้อ 56, 83
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 56, 83 จำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษและไม่ปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า คำรับรองของอัยการพิเศษประจำเขต 1 ซึ่งอธิบดีกรมอัยการมอบหมายให้เป็นผู้รับรองอุทธรณ์รับรองไว้ล่วงหน้ามิได้รับรองในวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ไม่ได้ใช้ถ้อยคำในการรับรองตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งมิได้ให้เหตุผลในการให้คำรับรอง จึงเป็นการรับรองที่ไม่ชอบ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี บัญญัติว่า”ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 193 ทวิ… ถ้าอธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมอัยการได้พิจารณาเห็นว่าควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยข้อที่ต้องห้ามนั้นแล้ว ก็รับรองให้อุทธรณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องรับรองในวันที่ยื่นอุทธรณ์ เพียงแต่ให้มีคำรับรองปรากฏให้เห็นขณะ ที่มีการยื่นอุทธรณ์ ก็ถือว่าเป็นการรับรองตามที่กฎหมายกำหนด และถ้อยคำที่ใช้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ตามที่กฎหมายกำหนด จะใช้ถ้อยคำใดที่มีความหมายให้เห็นว่าเป็นการรับรองข้อที่ต้องห้ามก็ถือว่าเป็นคำรับรองที่ชอบแล้ว ส่วนเหตุผลที่จะรับรองนั้นเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาก่อนที่จะมีการรับรอง ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องการรับรองตามที่กล่าวข้างต้น มิได้กำหนดแบบไว้ว่าจะต้องให้ปรากฏเหตุผลในการรับรองด้วยเช่น คำพิพากษาหรือคำสั่งดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6) คำรับรองของอธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายที่ไม่ได้ระบุเหตุผลในการรับรองไว้ จึงมิใช่คำรับรองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อต่อมาว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ยกขึ้นมาในอุทธรณ์นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ข้อที่โจทก์ยกขึ้นกล่าวอ้างในอุทธรณ์นั้น เป็นการแสดงเหตุผลให้เห็นว่าดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลชั้นต้นไม่ เหมาะสมเพราะเหตุใดเท่านั้นมิใช่การกล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำผิด กรณีเป็นเรื่องของการอ้างเหตุขึ้นมาให้เห็น เพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นการอ้างถึงข้อเท็จจริงที่เป็นสิ่งธรรมดาทั่วไปที่ทุกคนอาจเห็นได้ ไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำผิดที่อ้างขึ้นมาใหม่ไม่เป็นข้อต้องห้ามตามกฎหมายศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share