คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4341/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของ ศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 10 การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้ลงชื่อในคำพิพากษามีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น มิใช่เป็นการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โดยเห็นว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าโจทก์ยอมให้จำเลยหักเงินที่จำเลยรับไว้เพื่อชำระค่าจ้างที่โจทก์ค้างชำระแก่จำเลยได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 10 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520มาตรา 3 คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ต้องห้ามหรือไม่ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีอำนาจรับเงินค่าเสียหายจากนายวิมลสร้อยบุญศรี ทั้งนี้เพราะโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยรับเงินได้ เมื่อจำเลยรับเงินค่าเสียหายมาแล้วเงินดังกล่าวย่อมตกเป็นของโจทก์จำเลยครอบครองเงินดังกล่าวแล้วไม่นำมาชำระให้โจทก์ จำเลยย่อมมีความผิดทางอาญาฐานยักยอกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว…
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นผู้ลงชื่อในคำพิพากษาได้มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้แล้ว เพราะอาจเห็นว่า ข้อความที่โจทก์อุทธรณ์เป็นปัญหาสำคัญที่น่าจะสู่ศาลอุทธรณ์ จึงได้รับอุทธรณ์โจทก์ไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรีนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้สั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย กรณีหาใช่เป็นการอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี ไม่…”
พิพากษายืน.

Share