คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8620/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83, 358, 371 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากอายุเกิน 24 ปีบริบูรณ์ ให้ส่งไปจำคุกตามระยะเวลาที่เหลือ ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมและจากนั้นส่งตัวไปจำคุกยังเรือนจำเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากอายุเกิน 24 ปีบริบูรณ์ ให้ส่งไปจำคุกตามระยะเวลาที่เหลือโดยไม่ได้ระบุว่า คือกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำหรือขั้นสูงนั้น เป็นการไม่ชัดแจ้ง จึงกำหนดให้เป็นส่งตัวจำเลยไปจำคุกตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 วรรคท้าย จนครบกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 288, 358, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ นับโทษหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยต่อจากโทษหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 71/2555 ของศาลชั้นต้น ริบลูกกระสุนปืนและชิ้นส่วนรองลูกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษหรือระยะเวลาฝึกอบรมต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83, 358, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นกับฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควรเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 5 ปี 12 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากอายุเกิน 24 ปีบริบูรณ์ ให้ส่งไปจำคุกตามระยะเวลาที่เหลือ ริบลูกกระสุนปืนและชิ้นส่วนรองลูกกระสุนปืนของกลาง ยกคำขอนับโทษหรือระยะเวลาฝึกอบรมต่อ เนื่องจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 71/2555 ของศาลชั้นต้น ศาลยังไม่มีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83, 358, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 5 ปี 12 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากอายุเกิน 24 ปีบริบูรณ์ ให้ส่งไปจำคุกตามระยะเวลาที่เหลือ ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมจากนั้นส่งตัวไปจำคุกยังเรือนจำเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ใช่คนร้ายที่ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ขอให้พิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการฎีกาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่กำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากอายุเกิน 24 ปีบริบูรณ์ให้ส่งไปจำคุกตามระยะเวลาที่เหลือนั้น เห็นว่า เป็นการไม่ชัดแจ้ง จึงกำหนดให้เป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่หากจำเลยอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ก่อนได้รับการฝึกอบรมครบกำหนดเวลาขั้นต่ำให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 วรรคท้าย จนครบกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่

Share