คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4284/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามลาออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยโดยไม่ออกจากงาน จำเลยจ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสมให้โจทก์ทั้งสาม แต่ไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบให้
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับในวันที่ 28 มกราคม 2551 แต่นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรับจดทะเบียนการแก้ไขข้อบังคับของจำเลยที่ว่าสมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ ทำให้การแก้ไขข้อบังคับมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2550 ตามมาตรา 9 วรรคสอง โจทก์ที่ 1 ลาออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยโดยไม่ออกจากงานในวันที่ 1 สิงหาคม 2550 จึงตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ตามข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบตามข้อบังคับที่แก้ไขนั้น
เดิมบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินบำเหน็จเป็นสวัสดิการแก่พนักงานเมื่อตายหรือออกจากงาน ต่อมามีการจัดตั้งจำเลยโดยศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าสาเหตุการจัดตั้งจำเลยก็เพื่อนำมาใช้ทดแทนการจ่ายเงินบำเหน็จที่ยกเลิกไป และข้อบังคับของจำเลยทุกฉบับมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมทรัพย์ ตลอดจนเป็นหลักประกันให้แก่สมาชิกและครอบครัวเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย หรือไร้ความสามารถ หรือลาออก หรือครบเกษียณอายุ หรือพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง ยืนยันให้เห็นว่าจำเลยถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อออกจากงานเท่านั้น การที่จำเลยแก้ไขข้อบังคับให้สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ แต่ยังคงมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสมในส่วนของตนจนเต็มจำนวน จึงเป็นการแก้ไขให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งจำเลยตามที่ปรากฏในข้อบังคับ ไม่ใช่เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพที่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร การแก้ไขข้อบังคับของจำเลยในส่วนนี้จึงชอบด้วยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ลาออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยโดยไม่ออกจากงานหลังจากมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบเช่นกัน
แม้มาตรา 5 ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่ากองทุนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างลาออกซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนก็ตาม แต่การจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพต้องปฏิบัติตามมาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติให้ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน ผู้จัดการกองทุนของจำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับคือไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบให้สมาชิกที่ลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงาน โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 999,311.31 บาท 944,571.87 บาท และ 594,935.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2550 วันที่ 1 ธันวาคม 2551 และวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยโดยให้มีผลนับแต่วันมีคำพิพากษา (วันที่ 13 พฤศจิกายน 2552) เป็นต้นไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าการแก้ไขข้อบังคับของจำเลย ข้อ 10.7 (3) ที่ว่าสมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ หรือไม่ และโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร มีผลใช้บังคับในวันที่ 28 มกราคม 2551 อันเป็นวันหลังจากที่นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรับจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับซึ่งทำให้ข้อบังคับที่แก้ไขมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2550 ตามมาตรา 9 วรรคสอง โจทก์ที่ 1 ลาออกจากการเป็นสมาชิกโดยไม่ออกจากงานในวันที่ 1 สิงหาคม 2550 จึงต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ตามข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบจากจำเลยตามข้อบังคับ ข้อ 10.7 (3) ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แม้จะลาออกจากการเป็นสมาชิกโดยไม่ออกจากงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2551และวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ตามลำดับ ซึ่งเป็นวันหลังจากมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ที่บัญญัติว่าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยทุกฉบับถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้งจำเลยเพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกมีการออมทรัพย์และเป็นสวัสดิการ ตลอดจนเป็นหลักประกันให้แก่สมาชิกและครอบครัวเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย หรือไร้ความสามารถ หรือลาออก หรือครบเกษียณอายุ หรือพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 4 ข้อ 3.5 และ ล.5 ข้อ 3.5 ประกอบกับจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังถึงสาเหตุการจัดตั้งจำเลยเพื่อนำมาใช้ทดแทนการจ่ายเงินบำเหน็จที่ยกเลิกไป ซึ่งเดิมบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินบำเหน็จเป็นสวัสดิการแก่พนักงานเมื่อตายหรือออกจากงาน ยืนยันให้เห็นว่าจำเลยถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อออกจากงานเท่านั้น มิได้หมายถึงให้เป็นสวัสดิการในกรณีอื่นด้วย การที่จำเลยแก้ไขข้อบังคับตาม ข้อ 10.7 (3) ให้สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพด้วยเหตุลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ แต่ยังคงมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสมในส่วนของตนเต็มจำนวนนั้น จึงเป็นการแก้ไขให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งจำเลยตามที่ปรากฏในข้อบังคับ หาใช่เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพที่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรไม่ การแก้ไขข้อบังคับของจำเลย ข้อ 10.7 (3)จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8)ที่แก้ไขใหม่ ส่วนที่โจทก์ที่ 3 อุทธรณ์ว่าการแก้ไขข้อบังคับ ข้อ 10.7 (3) ทำให้สมาชิกผู้ลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบขัดต่อมาตรา 5 ที่แก้ไขใหม่นั้น แม้มาตรา 5 ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่ากองทุนจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างลาออกจากกองทุนซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนก็ตาม แต่การจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพต้องปฏิบัติตามมาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน ดังนั้นลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสะสม ผลประโยชน์อันเกิดจากเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบจากกองทุนหรือไม่อย่างไรจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน เมื่อการแก้ไขข้อบังคับของจำเลย ข้อ 10.7 (3) ชอบด้วยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (8) ที่แก้ไขใหม่ ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น ผู้จัดการกองทุนของจำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับคือไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบให้สมาชิกที่ลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งลาออกจากกองทุนโดยไม่ออกจากงานจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share