คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 174/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของบริษัท ก. ทำหน้าที่เป็นช่างทาสีบริษัท ก. มีคำสั่งให้โจทก์กับคนงานอื่นไปทำงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างเวลา 16-20 นาฬิกา เมื่อเวลาประมาณ3 นาฬิกา ของวันที่ 26 มิถุนายน 2530 โจทก์พลัดตกจากรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์นอนอยู่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแขนและขาขวาใช้งานไม่ได้เวลาที่โจทก์ประสบอันตรายดังกล่าวไม่ใช่ระยะเวลาที่โจทก์ปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้าง เพราะเป็นเวลาที่โจทก์ต้องพักผ่อนเพื่อเตรียมปฏิบัติงานตามกำหนดเวลาโจทก์จึงเรียกร้องเอาค่าทดแทนไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายวันเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ประสบอันตรายจำนวน 336,960 บาท จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน2530 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาเกิดเหตุ โจทก์มิได้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทกรุงสยาม จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเพราะมิใช่เป็นเวลาปฏิบัติงานการที่โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากโจทก์เมาสุราจนไม่สามารถครองสติได้จึงหลับอยู่บนรถยนต์บรรทุก โจทก์ไม่ได้รับบาดเจ็บถึงทุพพลภาพคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบด้วยกฎหมายขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ระยะเวลาทำงานต้องถือว่าได้เริ่มต้นตั้งแต่ตอนเย็นของวันที่ 25 มิถุนายน2530 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์เดินทางจนถึงสถานที่พักที่นายจ้างจัดไว้ตลอดมาจนติดตั้งเฟอร์นิเจอร์และตบแต่งอาคารของธนาคารกสิกรไทย สาขาประจวบคีรีขันธ์ เสร็จ และเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานคร มิใช่เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 16-20 นาฬิกา เท่านั้นพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทกรุงสยาม จำกัด ทำหน้าที่ช่างทาสีตบแต่ง เมื่อวันที่ 25มิถุนายน 2530 โจทก์เดินทางโดยรถยนต์บรรทุกไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อทาสีตบแต่งอาคารสำนักงานธนาคารกสิกรไทย สาขาประจวบคีรีขันธ์โจทก์ได้นอนหลับบนรถยนต์บรรทุกตั้งแต่อำเภอปราณบุรีจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายพันธ์ศักดิ์ ทิวาพัฒน์กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทกรุงสยาม จำกัด ได้เรียกโจทก์ไปนอนพักในโรงแรมแต่โจทก์ไม่ยอมลุกขึ้น จนเวลาประมาณ 3 นาฬิกา ของวันที่ 26มิถุนายน 2530 โจทก์ลงจากรถยนต์บรรทุกแล้วตกลงมาที่พื้นดินเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแขนและขาขวาใช้งานไม่ได้เนื่องจากไขสันหลังและเส้นประสาทถูกกดทับ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีหน้าที่ทาสีตบแต่ง และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จะต้องทำงานตามหน้าที่ ณ อาคารธนาคารกสิกรไทย สาขาประจวบคีรีขันธ์ตั้งแต่เวลา 16-20 นาฬิกา ของวันที่ 26 มิถุนายน 2530 ดังนั้นในระยะเวลาที่โจทก์ประสบอันตรายจึงมิใช่เป็นระยะเวลาที่โจทก์ปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้าง การที่นายจ้างจัดรถยนต์บรรทุกเฟอร์นิเจอร์และให้โจทก์โดยสารมาด้วยก็เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปปฏิบัติงานเท่านั้น การประสบอันตรายของโจทก์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่โจทก์ต้องพักผ่อนเพื่อเตรียมปฏิบัติงานตามกำหนดเวลาดังกล่าวกรณีจึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามความหมายของคำว่า”ประสบอันตราย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ที่โจทก์จะเรียกร้องเอาค่าทดแทนได้ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้ขึ้นไปนอนในโรงแรมก็มิใช่ความผิดของโจทก์ แต่กลับเป็นผลดีแก่นายจ้างที่โจทก์นอนเฝ้าเฟอร์นิเจอร์และรถยนต์บรรทุกให้แก่นายจ้างนั้น ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์นอนหลับบนรถยนต์บรรทุกมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เฝ้ารถยนต์บรรทุกและเฟอร์นิเจอร์อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นเรื่องโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน

Share