คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7404/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกเวนคืนที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 ถ้าจำเลยไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นเพื่อขอค่าทดแทนที่ดิน เพิ่มขึ้นได้ ดังนี้ กิจการที่จำเลยตกลงว่าจ้างให้โจทก์ กระทำการยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นนั้น จึงเป็น กิจการ ที่ชอบด้วยกฎหมายตามสิทธิของจำเลยในอันที่จะ ขอความเป็นธรรมต่อทางราชการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนข้อตกลงที่ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างยินยอมชำระสินจ้างให้แก่โจทก์ผู้รับจ้างในการที่ผู้รับจ้างดำเนินการทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นโดยผู้ว่าจ้างจะชำระสินจ้างให้เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินค่าทดแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นทั้งนี้ผู้รับจ้างมิได้เรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอันมีความหมายว่า โจทก์ผู้รับจ้างเป็นผู้รับดำเนินการและออกค่าใช้จ่ายเพื่อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้จำเลยได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอันเนื่องมาจากที่ดินของจำเลยถูกเวนคืน ถ้าจำเลยไม่ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ออกให้จำเลยก็ไม่ต้องคืนแก่โจทก์แต่ถ้าจำเลยได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่ม จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการที่จำเลยตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ ทำนั้นแก่โจทก์ เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ตามปกติและหาได้มีลักษณะเป็นการหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน หรือยุยงให้ผู้อื่นเป็นความกันไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นตามกฎหมายอยู่แล้ว และจำเลยประสงค์จะได้ค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นโจทก์และจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะตกลงกำหนดสินจ้างในงานที่ทำนั้นได้ ไม่มีกฎหมายห้ามและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหา ข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะแล้ว จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาลเพียง200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง 1 ข้อ 2(ก)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 13672 ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรีจังหวัดกาญจนบุรี ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงหมายเลข 323สามแยก ทางหลวงหมายเลข 4 ตอนเลี่ยงเมืองกาญจนบุรีวันที่ 13 กันยายน 2537 จำเลยได้ตกลงว่าจ้างให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อให้จำเลยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินของจำเลยที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น โดยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยยินยอมชำระสินจ้างให้โจทก์ในการยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของเงินค่าทดแทนที่จำเลยได้รับเพิ่มขึ้นทั้งนี้โจทก์ไม่ได้เรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแต่อย่างใด จำเลยตกลงจะชำระสินจ้างให้โจทก์ภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันได้รับเงิน หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระภายในกำหนดยินยอมชำระสินจ้างเพิ่มให้แก่โจทก์อีกในอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือนของต้นเงินสินจ้างที่ค้างชำระ วันที่ 23 กันยายน 2537โจทก์ได้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อมาจำเลยได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจำนวน 584,285 บาทซึ่งจำเลยต้องชำระเงินสินจ้างให้แก่โจทก์ตามสัญญาเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยได้รับเพิ่มขึ้นรวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 292,922 บาทแต่จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 292,922 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 292,142บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อขอค่าทดแทนที่ดินของจำเลยที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น โดยมีข้อตกลงให้สินจ้างแก่โจทก์ตามที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์นั้น มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ดังศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยถูกเวนคืนที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 ถ้าจำเลยไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนด ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นได้เพื่อขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น จึงเห็นได้ในเบื้องต้นว่า กิจการที่จำเลยตกลงว่าจ้างให้โจทก์กระทำการยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อขอค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นนั้น เป็นกิจการที่ชอบด้วยกฎหมายตามสิทธิของจำเลยในอันที่จะขอความเป็นธรรมต่อทางราชการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนข้อตกลงที่ว่าจำเลยผู้ว่าจ้างยินยอมชำระสินจ้างให้แก่โจทก์ผู้รับจ้างในการที่ผู้รับจ้างดำเนินการทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น โดยผู้ว่าจ้างจะชำระสินจ้างให้เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งหรือ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินค่าทดแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นตามเอกสารหมาย จ.1 ทั้งนี้ผู้รับจ้างมิได้เรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแต่อย่างใดอันมีความหมายว่า โจทก์ผู้รับจ้างเป็นผู้รับดำเนินการและออกค่าใช้จ่ายเพื่อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้จำเลยได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอันเนื่องมาจากที่ดินของจำเลยถูกเวนคืน ถ้าจำเลยไม่ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้น เงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ออกให้จำเลยก็ไม่ต้องคืนแก่โจทก์แต่ถ้าจำเลยได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่ม จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการที่จำเลยตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นแก่โจทก์ เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587ตามปกติไม่มีลักษณะเป็นการหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน หรือยุยงให้ผู้อื่นเป็นความกัน เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นตามกฎหมายอยู่แล้ว และจำเลยประสงค์จะได้ค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นโจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิที่จะตกลงกำหนดสินจ้างในงานที่ทำนั้นตามเอกสารหมาย จ.1 ได้ ไม่มีกฎหมายห้าม และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ดังกล่าวแล้ว จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2 (ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยค่าขึ้นศาลที่ชำระเกินมาในชั้นนี้ให้คืนแก่โจทก์

Share