แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์จะยกขึ้นฎีกาไม่ได้
ใบมอบอำนาจฟ้องความนั้น จะต้องให้กงสุลไทยรับรองต่อเมื่อมีเหตุอันควรสงสัย ถ้าศาลเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรสงสัย แม้อีกฝ่าย 1 คัดค้าน ศาลก็ยอมรับฟังได้โดยไม่ต้องให้กงสุลรับรอง
โจทก์จำเลยเคยพิพาทกันเรื่องเครื่องหมายการค้าในคดีก่อนจำเลยยอมให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้แล้วจำเลยจะมาฟ้องแย้งขอให้ศาลถอนคำขอจดทะเบียนของโจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์จำเลยเคยฟ้องกันเรื่องเครื่องหมายการค้าครั้ง ๑ แล้ว บัดนี้โจทก์จำเลยมาฟ้องและฟ้องแย้งกันอีก
ในชั้นศาลฎีกามีปัญหาข้อกฎหมายดังนี้
๑.ฎีกาโจทก์อ้างว่า เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเจ้าพนักงานมิได้อ้างมาตรา ๑๘ แห่งพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า แต่อ้างว่าเครื่องหมายนั้น ต่างกับของโจทก์ ศาลจึงไม่ควรยกมาตรา ๑๘ มาชี้ขาด ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย
๒.จำเลยฎีกาเรื่องหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ว่า ไม่มีกงสุลไทยรับรอง ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลจะบังคับให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับใบมอบอำเนาจกระทำตามแบบที่บัญญัติไว้ฉะเพาะแต่เมื่อมีเหตุควรสงสัยหรืออีกฝ่าย ๑ ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ฉะนั้นแม้อีกฝ่าย ๑ คัดค้านแล้ว ก็คงอยู่ในอำนาจของศาลที่จะวินิจฉัยว่าเหตุที่อ้างมาสมควรหรือไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
๓.ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทีได้ขอจดทะเบียนไว้ ศาลฏีกาเห็นว่า ในคดีก่อนจำเลยได้ยินยอมให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายของโจทก์ได้แล้วเช่นนี้ จะมาขอให้ศาลตัดสิทธิของโจทก์ได้อย่างไร ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าเป็นการตัดบทมิให้จำเลยนำมาฟ้องร้องอีกนั้น ชอบแล้ว จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง