คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7830/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ศ. 2539 มาตรา 4
พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 มาตรา 6
จำเลยกับพวกมีการติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิด กรรมวิธีในการผลิตเมทแอมเฟตามีนมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่จัดหาสถานที่ จัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ตลอดจนสารเคมีต่าง ๆ รวมทั้งแรงงานในการผลิต ผู้เข้าร่วมในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งย่อมถือว่าเป็นตัวการที่ร่วมกันกระทำความผิดแล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการเองทุกขั้นตอนจนสำเร็จ ดังนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องเป็นผู้ลงมือปรุงหรืออัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนด้วยตนเอง การกระทำความผิดของจำเลยกับพวกเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าเป็นตัวการร่วมกัน
จำเลยมากระทำผิดอาญาขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษตาม พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 43 กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา 58 แห่ง พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ข้อ 93 (1) และ 94 (ก) และ พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 มาตรา 6 จำเลยจึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ. ล้างมลทิน ฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔ , ๖ (๗ ทวิ) , ๑๓ ทวิ , ๖๒ , ๘๙ , ๑๐๖ , ๑๐๖ ทวิ , ๑๑๖ ป.อ. มาตรา ๓๒ , ๓๓ , ๘๓ , ๙๑ , ๙๒ ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางทั้งหมดให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ และนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๙๔๒๗/๒๕๓๑ ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ต่อจากโทษของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๗๗๔/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์เสร็จ จำเลยที่ ๒ ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อตามฟ้องจริง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๘๙ ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา ๘๓ และจำเลยที่ ๒ มีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง , ๑๐๖ วรรคหนึ่ง…
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๖ ร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนและร่วมกับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขายตามฟ้อง เฉพาะจำเลยที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๑๒ เม็ด น้ำหนักสุทธิ ๑ กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ ๐.๐๙ กรัม ไว้ในครอบครองตามฟ้องอีกสถานหนึ่งด้วย คดีคงมีปัญหาชั้นฎีกาในประการแรกว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๕ และที่ ๖ ผลิตเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนและร่วมกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ มีเมทแอมเฟตามีนและอีเฟดรีนไว้ในครอบครองเพื่อขายตามฟ้องหรือไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ ๑ กับพวก มีการติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิด กรรมวิธีในการผลิตเมทแอมเฟตามีนมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่จัดหาสถานที่ จัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ตลอดจนสารเคมีต่าง ๆ รวมทั้งแรงงานในการผลิต ผู้เข้าร่วมในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ย่อมถือว่าเป็นตัวการที่ร่วมกันกระทำความผิดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดำเนินการเองทุกขั้นตอนจนสำเร็จ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงไม่จำต้องเป็นผู้ลงมือปรุงหรืออัดเม็ดเมทแอมเฟตามีนด้วยตนเอง การกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ กับพวกเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าเป็นตัวการร่วมกัน
ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ได้ เพราะจำเลยที่ ๑ พ้นมลทินตาม พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ มากระทำผิดอาญาคดีนี้ขึ้นอีกในระหว่างได้รับการพักการลงโทษ จึงเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขแห่งการพักการลงโทษ ตาม พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๔๓ กฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในมาตรา ๕๘ แห่ง พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้อ ๙๓ (๑) และ ๙๔ (ก) และ พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๖ ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงมิใช่ผู้ซึ่งพ้นโทษไปแล้ว ก่อนวันที่ พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ. ล้างมลทิน ฯ มาตรา ๔ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share