คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5914/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยก่อสร้างอาคารไม่เว้นระยะห่างจากที่ดินข้างเคียงโดยฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่นของเทศบาลเมืองขอนแก่น จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯมาตรา 40 และ 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ แต่การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 66 ทวิ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตามบทบัญญัติมาตรา 42เสียก่อน คือ กรณีแรกอาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 กรณีที่สองอาคารที่จำเลยก่อสร้างไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารจำเลยไม่ปฏิบัติตามความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องจึงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตามเงื่อนไขแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นก็ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นแต่เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 4 คูหาที่บริเวณถนนศิลปสนิทใช้สำหรับเพื่อพาณิชยกรรม ได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวชิดกับที่ดินของนางจันทร์ฉาย กรรภิรมย์ ยาว 1 เมตร 70 เซนติเมตร โดยไม่เว้นระยะห่างจากที่ดินดังกล่าวอย่างต่ำ 50 เซนติเมตร ตามที่กำหนดตามเทศบัญญัติของเทศบาลเมืองขอนแก่น(ในขณะนั้น) เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2497 และเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ถูกต้องภายในกำหนด 30 วันนับแต่ทราบคำสั่งและจำเลยได้ทราบคำสั่งแล้วจำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ได้มีคำสั่งให้จำเลยได้รื้อถอนอาคารดังกล่าวโดยมิได้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 40, 42, 66 ทวิ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40(3), 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำคุก 4 เดือน ปรับ20,000 บาท กับปรับรายวัน วันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2537 จนถึงวันฟ้องวันที่ 24 มกราคม 2544 เป็นเวลา 2,405 วัน เป็นเงินค่าปรับ 240,500 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารส่วนที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ถูกต้องนั้น จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท กับปรับรายวันอีกวันละ 50 บาท เป็นเงินค่าปรับ 120,250 บาท และปรับอีกวันละ 50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารส่วนที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ถูกต้องนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และได้ก่อสร้างอาคารชิดกับที่ดินของนางจันทร์ฉาย กรรภิรมย์ โดยไม่เว้นระยะห่างจากที่ดินดังกล่าวอย่างต่ำ 50 เซนติเมตร ตามที่กำหนดตามข้อบัญญัติของเทศบาลเมืองขอนแก่น เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างแล้วจำเลยทราบแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เห็นว่าการที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่เว้นระยะห่างจากที่ดินข้างเคียงโดยฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่นของเทศบาลเมืองขอนแก่นจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และ 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ ซึ่งความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 41 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด…” และมาตรา 42 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน…” ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่จะเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 66 ทวิ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตามบทบัญญัติมาตรา 42 เสียก่อน กล่าวคือ กรณีแรกอาคารที่จำเลยก่อสร้างนั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 กรณีที่สองอาคารที่จำเลยก่อสร้างไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจึงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารตามเงื่อนไขแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นก็ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นแต่เพิ่งยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share