คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจาก ข. ผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่ง จึงไม่ใช่นิติกรรมที่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนมากไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 จึงไม่ผูกพันกองมรดกตามมาตรา 1724 การที่ ข. ให้ความยินยอมในภายหลัง ไม่ทำให้นิติกรรมที่ไม่ชอบกลับเป็นนิติกรรมสมบูรณ์ขึ้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยที่ 1 และ ข. ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และในภายหลังโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามมาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1ทำหนังสือสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1919 ให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ 270,000 บาทตกลงโอนที่ดินในวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 โดยจำเลยที่ 1ได้รับเงินมัดจำ 200,000 บาท ไปจากโจทก์แล้วในวันทำสัญญาถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ไปโอนที่ดินให้แก่โจทก์และได้ขอผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1919ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์จะวางเงินส่วนที่เหลือของราคาที่ดินให้แก่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน800,000 บาท แต่หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำ 200,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหาย 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ในวันนัดโอนที่ดินจำเลยที่ 1 ไปสำนักงานที่ดินแต่โจทก์ไม่มีเงินพร้อมที่จะชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ชอบที่จะริบมัดจำได้ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยสุจริต จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 และนายขอเดะ ไนหมาน โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตทั้งได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1919 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ลงวันที่ 19เมษายน 2539 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ชำระราคาที่ยังค้างอยู่ในวันจดทะเบียนโอนที่ดินหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาท และเบี้ยปรับอีก200,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของเงินมัดจำ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 กุมภาพันธ์2539) และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเบี้ยปรับ 200,000 บาทนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายหมะอะสัน บิดาจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1919 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา ต่อมานายหมะถึงแก่กรรมนายขอเดะ ไนหมาน หลานนายหมะทายาทคนหนึ่งจึงได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายขอเดะเป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 ต่อมาจำเลยที่ 1ก็ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการขอนายหมะบิดาเช่นกันศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2536เจ้าพนักงานที่ดินได้หารือมายังศาลชั้นต้นเกี่ยวกับปัญหาที่มี ผู้จัดการมรดกซ้อนกันดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงหมายเรียกนายขอเดะและจำเลยที่ 1มาสอบถามในที่สุดศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2537ให้นายขอเดะและจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะร่วมกันซึ่งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ราคาไร่ละ 270,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำ200,000 บาท และนัดจดทะเบียนโอนที่ดินในวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 เมื่อถึงกำหนดวันนัดจดทะเบียนโอนดังกล่าว ปรากฏว่าไม่มีการจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญา ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2538 จำเลยที่ 1 และนายขอเดะในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันได้ตกลงขายที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายและสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.5 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในประการแรกว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1ผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาท ศาลฎีกาเห็นว่า ในประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่นั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และนายขอเดะผู้จัดการมรดกทั้งสองมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา ประเด็นนี้จึงเป็นอันยุติ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ตั้งแต่แรกจึงถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นนี้เพียงว่า โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่านายหมะเจ้ามรดกมีบุตร3 คน ได้แก่จำเลยที่ 1 นางติเม๊าะมารดานายขอเดะและนางแอเส๊าะซึ่งเป็นทายาทผู้จะได้รับมรดก แต่นางติเม๊าะถึงแก่กรรมไปก่อนนายหมะเจ้ามรดก นายขอเดะซึ่งเป็นบุตรนางติเม๊าะจึงเป็นทายาทผู้หนึ่งที่จะรับมรดกแทนที่นางติเม๊าะเมื่อนายหมะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงตกเป็นมรดกแก่ทายาทดังกล่าวข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าทายาทผู้รับมรดกผู้ใดยังมีชีวิตอยู่ หลังจากนายหมะถึงแก่กรรม นายขอเดะหลานนายหมะเจ้ามรดกจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะก่อนต่อมาจำเลยที่ 1 จึงไปยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะในภายหลัง ดังนี้ ทั้งนายขอเดะและจำเลยที่ 1 ต่างมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะเจ้ามรดกซ้อนกัน ระหว่างนั้นต้องถือว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองต่างเป็นผู้จัดการมรดกโดยชอบซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 บัญญัติว่า”ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด” และมาตรา 1724 วรรคแรก บัญญัติว่า “ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก” ข้อเท็จจริงฟังว่า ในวันที่ 10 พฤศจิกายน2536 ที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้รับเงินมัดจำ 200,000 บาท ไปจากโจทก์ ซึ่งสัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำตามเอกสารหมาย จ.2 นั้น ไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 1ผู้จะขายที่ดินพิพาททำสัญญาในฐานะผู้จัดการมรดกทั้งที่จำเลยที่ 1ในขณะนั้นได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายหมะแล้วจึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทในนามส่วนตัวมิใช่กระทำในฐานะผู้จัดการมรดก ทั้งน่าเชื่อว่าในขณะทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทนั้นนายขอเดะผู้จัดการมรดกคนหนึ่งไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อทราบเรื่องนายขอเดะจึงได้ไปคัดค้าน ดังที่ปรากฏจากนายธุวชิต กอเงินกลาง เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอจะนะพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 มายื่นคำขอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมามีผู้คัดค้านการขาย เนื่องจากมีผู้อ้างว่ามีการตั้งผู้จัดการมรดกซ้อนกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาท โดยนายขอเดะผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งไม่ได้รู้เห็นและตกลงทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ด้วย จึงเป็นเหตุให้มีปัญหาขัดข้องจนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาให้แก่โจทก์ และแม้นายขอเดะผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งจะได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 ในภายหลังว่า หากขายที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ก็ให้นำเงินมาแบ่งปันให้แก่จำเลยที่ 1 นางแอเส๊าะและนายขอเดะคนละเท่า ๆ กันนายขอเดะจึงไม่คัดค้านที่จะให้จำเลยที่ 1 ไปโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายขอเดะผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งจึงไม่ใช่นิติกรรมที่ได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนมาก ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทายาทผู้อื่นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1726 นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1724 ดังนี้สัญญาจะซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเสียเปล่าการที่นายขอเดะผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งมาให้ความยินยอมในภายหลังย่อมไม่ทำให้นิติกรรมที่ไม่ชอบเสียแล้วกลับเป็นนิติกรรมสมบูรณ์ขึ้นภายหลัง โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้จำเลยที่ 1 และนายขอเดะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทได้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และนายขอเดะผู้จัดการมรดกร่วมในภายหลังโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว ทั้งได้ความจากพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งยกเลิกการขายที่ดินพิพาทกับโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย จ.3 ก่อนที่จำเลยที่ 1 และนายขอเดะจะทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 และนายขอเดะทำกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ใช่เป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share