คำสั่งคำร้องที่ 276/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์หลังพ้นกำหนดระยะเวลา อุทธรณ์แล้วโดยอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถ ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาได้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่ง ในวันเดียวกันให้ยกคำร้องของ โจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์ คำสั่งโต้แย้งว่าคำสั่งศาลแรงงานกลางไม่ชอบ ขอให้ศาลฎีกา มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในเวลาอันสมควร ถือได้ว่าโจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่ง ศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาต ให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายหลังกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ มิใช่เป็นคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่จำต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา หรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางสั่ง ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง 37,333 บาทแก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 มกราคม2540) จนกว่าจะชำระเสร็จและออกใบสำคัญแสดงการทำงานของโจทก์ที่ 1ให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 23,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง (วันที่ 28 มกราคม 2540) จนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อ 26 ตุลาคม 2541 จะต้องอุทธรณ์ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน โจทก์ทั้งสองขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง

โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์มิได้ยื่นคำขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาอุทธรณ์และศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน2541 แล้วจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาต ให้ยกคำร้อง

โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541โดยอ้างเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันไม่อาจก้าวล่วงได้จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง

โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งฉบับวันที่ 14 ธันวาคม 2541 โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำร้องฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 ว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัยและให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องนี้ว่า โจทก์ที่ 2 มิได้นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล จึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ที่ 2 ให้รับเฉพาะอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ที่ 1

โจทก์ที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ว่า คำร้องอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541 ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจสั่งนั้น เห็นว่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางที่สั่งคำร้องของโจทก์ที่ 2 ฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 ว่า กรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจสั่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งฉบับนี้ เพราะเป็นอำนาจของศาลฎีกา และเห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาได้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันเดียวกันให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ 2ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2541 โจทก์ที่ 2 จึงยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งโต้แย้งว่า คำสั่งศาลแรงงานกลางดังกล่าวไม่ชอบ ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 2ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในเวลาอันสมควร ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ภายหลังกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์นั่นเอง มิใช่เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ไม่นำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งศาลแรงงานกลางที่สั่งเมื่อวันที่14 ธันวาคม 2541 ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาคำร้องของโจทก์ที่ 2ฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2541 แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี”

Share