คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญารับรองการยืมจะเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 นั้น มิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นปัญหาที่ยุติแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 ออกใช้บังคับซึ่งแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดและเป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จึงต้องลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เพียง 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งถูกจำคุก 72 ปี 6 เดือนนั้น แม้จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่การใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ได้เพียง 50 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงาน ตำแหน่งสมุห์บัญชีกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา มีหน้าที่ตามปะมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีตามกฎหมายและพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งผู้บังคับหมู่สถานีตำรวจภูธรตำบลสระพระจังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันปลอมสัญญารับรองการยืมเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาอันเป็นเอกสารสิทธิและเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับรวม ๒๙ ฉบับ และร่วมกันใช้เอกสารปลอมดังกล่าวเพื่อขอยืมเงินทดรองราชการ ทั้งนี้เพื่อให้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่อง รองผู้กำกับการและผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา กรมตำรวจ หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว และจำเลยที่ ๑ เป็นตัวการจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตโดยจำเลยที่ ๑ ได้เอาเงินของทางราชการกรมตำรวจ ซึ่งจำเลยที่ ๑มีหน้าที่รักษาจ่ายให้แก่จำเลยที่ ๒ รับไปตามสัญญารับรองการยืมเงินปลอมทั้ง ๒๙ ฉบับเพื่อนำเอาไปแบ่งกัน อันเป็นการเบียดบังยักยอกเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชสีมาไปเป็นของจำเลยทั้งสอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗, ๑๕๗, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘, ๘๓, ๘๖, ๙๑ ให้ร่วมกันคืนเงินที่เบียดบังยักยอก
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘ รวม ๒๙ กระทง ลงโทษทุกกระทงตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง กระทงละ ๑ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๒ เป็นเวลา ๒๙ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๒ เป็นเวลา ๑๙ ปี ๔ เดือน ข้อหาและคำขออื่นยก
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยทั้งสองผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๙๑ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละกรรมเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๗ เรียงกระทงรวม ๒๙ กระทง จำคุกจำเลยที่ ๑ กระทงละ ๕ ปีรวมเป็นโทษจำคุก ๑๔๕ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้สนับสนุนกระทงละ ๓ ปี๔ เดือน รวมเป็นโทษ ๙๖ ปี ๘ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๗๒ ปี ๖ เดือน ให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่กรมตำรวจ
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเพื่อยืมเงินทดรองใช้จ่ายในการปฏิบัติราชการโดยมิได้มีคำสั่งของผู้บังคับบัญชาให้มีการปฏิบัติราชการจริง จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์สินซึ่งตนมีหน้าที่จัดการหรือรักษาเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้สนับสนุนเมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำนั้นก็จะไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๗อันเป็นบททั่วไปอีก ข้อที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๖ ปรากฏว่าปัญหาว่าสัญญารับรองการยืมจะเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ มิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นปัญหาที่ยุติแล้วในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ ๑ เรียงกระทง กระทงละ ๕ ปี รวม ๑๔๕ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖)พ.ศ. ๒๕๒๖ ออกใช้บังคับซึ่งแตกต่างกับกฎหมายในขณะกระทำผิดและเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ ซึ่งจะลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน ๕๐ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๓) จึงต้องลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ เพียง ๕๐ ปีส่วนจำเลยที่ ๒ ซึ่งถูกจำคุก ๗๒ ปี ๖ เดือนนั้น แม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่การใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยนี้เป็นเหตุให้ลักษณะคดี จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ ๒ ด้วย คือจะลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ได้เพียง ๕๐ ปี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๕๐ ปี

Share