คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 33ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะเกิดข้อพิพาทจะได้บัญญัติถึงการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าว่าจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อต้องจดทะเบียนเสียก่อนก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้คิดและออกแบบเครื่องหมายการค้า CLOY เครื่องหมายการค้าตราหัวช้าง และเครื่อง-หมายการค้าตราหญิงกระโดดเชือก แล้วนำไปจดทะเบียนโดยใช้ชื่อสามีโจทก์เป็นผู้-จดทะเบียนในระหว่างเป็นสามีภริยากันเช่นนี้ เครื่องหมายการค้าพิพาททั้งสามลักษณะเป็นทรัพย์สินที่สามีโจทก์กับโจทก์ผู้เป็นคู่สมรสได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสทั้งสามีโจทก์และโจทก์ย่อมเป็นเจ้าของสิทธิร่วมกันในเครื่องหมายการค้าทั้งสามลักษณะดังกล่าวแม้โจทก์จะมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสามในทะเบียนเครื่อง-หมายการค้าก็ตาม และแม้ต่อมาภายหลังจะได้มีการหย่าขาดและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกัน แต่สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของบุคคลทั้งสองก็ยังคงมีอยู่ร่วมกันจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นเป็นของโจทก์แต่ลำพังผู้เดียวตามข้อตกลง การที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าพิพาททั้งสามลักษณะไปแสดงให้ปรากฏที่ถุงกระดาษที่จำเลยใช้ใส่สินค้าที่ขายให้แก่ลูกค้าของตนในระหว่างที่โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทร่วมกับสามีโจทก์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสามและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท
ตามปกติโจทก์ก็ต้องทำการโฆษณาสินค้าของโจทก์อยู่แล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่าค่าโฆษณาดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำละเมิดของจำเลยโดยตรง อย่างไรก็ดี เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป การที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยทั้งสองโดยไม่สุจริตเพื่อหลอกลวงให้สาธารณชนหลงผิดในแหล่งกำเนิดสภาพ และคุณภาพของสินค้า ย่อมเป็นการละเมิดและทำให้ค่านิยมทางการค้าของโจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนเสียหาย ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีศาลชอบที่จะกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ตามควร

Share