แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ช. ตกลงแบ่งที่ดินอันเป็นมรดกของ ก.ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และช. โดยโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 2 และช. ไปยื่นคำขอแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จนกระทั่งเจ้าพนักงานได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นส่วนสัด เป็นการระงับข้อพิพาทแห่งกองมรดกที่จะมีขึ้น จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่การที่จำเลยที่ 2 บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 3 ผู้เยาว์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแทนจำเลยที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 (4) ย่อมตกเป็นโมฆะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และในกรณีนี้จำนวนทายาทหรือจำนวนทรัพย์มรดกที่จะได้รับส่วนแบ่งย่อมเป็นสิ่งเกี่ยวพันกันไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ ข้อตกลงแบ่งที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และช. ดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่อ้างข้อตกลงแบ่งมรดกดังกล่าวมาฟ้องขอแบ่งที่ดินจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มารดาโจทก์ทำพินัยกรรมที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๑๙ ที่ปลูกบ้านให้นางกาญจนา หงิมเสงี่ยม ต่อมานางกาญจนา หงิมเสงี่ยม ถึงแก่กรรม โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกนางกาญจนา หงิมเสงี่ยม ตามคำสั่งศาล จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และนายช้วนบิดาโจทก์เป็นผู้รับมรดกของนางกาญจนา หงิมเสงี่ยม โจทก์จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ ๓ และนายช้วนบิดาโจทก์แต่ตกลงแบ่งมรดกของนางกาญจนา หงิมเสงี่ยม ออกเป็นสามส่วนเท่า ๆ กัน โดยให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ และนายช้วนบิดาโจทก์ได้คนละส่วน สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๑๙ พร้อมบ้านไม้เลขที่ ๒๒๒ รวม ๓ หลังที่ปลูกอยู่นั้นตกลงแบ่งกันเป็น ๒ ส่วน โดยให้บ้านไม้หลังใหญ่ ๒ หลังพร้อมที่ดินประมาณ ๘๒ ตารางวาเป็นของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ส่วนบ้านไม้หลังเล็กพร้อมที่ดินประมาณ ๓๗ ตารางวาให้ไว้แก่นายช้วนบิดาโจทก์ ต่อมานายช้วนบิดาโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์เป็นผู้รับมรดกของนายช้วนบิดาตามพินัยกรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้วนบิดาตามคำสั่งศาล เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดแบ่งที่ดินตามที่ตกลงกันออกเป็นส่วนสัด ปักหลักเขตแน่นอนเรียบร้อยและได้เข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว แต่การจดทะเบียนแบ่งแยกไม่อาจดำเนินต่อไปได้ เพราะจำเลยได้ขอให้เข้าพนักงานรังวัดยกเลิกการรังวัดที่ทำไว้เสร็จแล้วนั้นเสีย โจทก์ได้เตือนให้จำเลยจัดการจดทะเบียนแบ่งแยกแล้ว จำเลยเพิกเฉยเป็นการผิดสัญญาแบ่งมรดก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๑๙ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามที่รังวัดแบ่งแยกไว้เพื่อออกโฉนดใหม่ ให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกาญจนา หงิมเสงี่ยม โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๑๙ เฉพาะส่วนเนื้อที่ ๓๗ ตารางวาพร้อมบ้านไม้ ๑ หลังเลขที่ ๒๒๒ ให้โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ขณะที่นางกาญจนายังมีชีวิตอยู่ได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๓๑๙ ตอนเหนือให้โจทก์และจำเลยที่ ๔ คนละ ๑๕ ตารางวา พร้อมด้วยตึกแถวที่ปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว เมื่อนางกาญจนาถึงแก่กรรมแล้วโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของนางกาญจนาได้ตกลงแบ่งที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๓๑๙ ที่ยังเหลือให้นายช้วนบิดาโจทก์ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ คนละหนึ่งในสามของที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๓๑๙ ที่ยังเหลืออยู่โดยกำหนดความสำคัญว่าให้แต่ละคนได้ที่ดินด้านทิศตะวันออกซึ่งติดถนนคนละเท่า ๆ กัน ส่วนบ้านหลังเล็กให้เป็นของโจทก์บ้านหลังใหญ่ ๒ หลังให้เป็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ถ้าบ้านหลังใหญ่ ๒ หลังล้ำเข้าไปในเขตที่ดินส่วนแบ่ง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะรื้อส่วนที่ล้ำออก โจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดแบ่งแยกที่ดินไม่ถูกต้อง โจทก์ได้ที่ดินเกินกว่าหนึ่งในสาม และทางทิศตะวันออกของที่ดินด้านติดถนนโจทก์ได้ทางออกมากกว่าหนึ่งในสาม จำเลยขอให้โจทก์แก้ทำใหม่ให้ถูกต้อง โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยจึงไม่ยอมรับรองความถูกต้องของแผนที่ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำเลยให้จดทะเบียนแบ่งแยกเอาที่ดินเป็นของโจทก์มากกว่าที่โจทก์ควรจะได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษให้จำเลยทั้งสี่ไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดที่ ๓๓๑๙ ในส่วนที่เป็นมรดกของนางกาญจนา หงิมเสงี่ยม ให้โจทก์เป็นเนื้อที่ ๓๗ ตารางวา โดยให้ได้ด้านกว้าง ๑ ใน ๓ และให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินดังกล่าวพร้อมด้วยบ้านเลขที่ ๒๒๒ ที่ปลูกอยู่บนที่ดินนี้ให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพียงประมาณ ๓๗ ตารางวา โดยให้ได้ส่วนกว้างของที่ดินด้านที่ติดถนนเพียง ๑ ใน ๓ ของความของกว้างที่ดินนั้นถูกต้องแล้ว แต่การที่จำเลยที่ ๒ ผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตกลงกับโจทก์และจำเลยอื่นขอให้เจ้าพนักงานรังวัดแบ่งแยกที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของร่วมกันออกเป็นส่วนสัดแทนจำเลยที่ ๓ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกนั้น ถือได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็กตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลก่อน คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ ๓ ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งที่ดินดังกล่าวแต่ประการใด การแบ่งที่ดินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ ผู้เยาว์ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจกระทำการแทนผู้เยาว์ของผู้ใช้อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้แต่แรก ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ พิพากษาแก้ว่าข้อตกลงแบ่งที่ดินดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และ นายช้วนตกลกแบ่งที่ดินอันเป็นมรดกของนางกาญจนาให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และนายช้วน โดยโจทก์จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนายช้วน ไปยื่นคำขอแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จนกระทั่งเจ้าพนักงานได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินออกเป็นส่วนสัดนั้น เป็นการระงับข้อพิพาทแห่งกองมรดกที่จะมีขึ้น จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่การที่จำเลยที่ ๒ เป็นเด็กอายุ ๕ ขวบ อยู่ในความปกครองของจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นบิดา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๔๖ (๔) บัญญัติให้ผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สินของเด็ก เว้นแต่ศาลจะอนุญาต การที่จำเลยที่ ๒ บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ ๒ ผู้เยาว์ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลขัดต่อบทกฎหมายข้างต้นย่อมตกเป็นโมฆะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และในกรณีนี้จำนวนทายาทหรือจำนวนทรัพย์มรดกที่จะได้รับส่วนแบ่งย่อมเป็นสิ่งเกี่ยวพันกันไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ ข้อตกลงแบ่งที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ และนายช้วน ดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่อ้างข้อตกลงแบ่งมรดกดังกล่าวมาฟ้องขอแบ่งที่ดินจากจำเลยได้
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่เรียกทรัพย์แบ่งของตนตามส่วนที่จะพึงได้