คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9520/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันภัยอาจทำสัญญาประกันภัยเป็นหลายรายในวัตถุเดียวกันได้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งฝ่ายผู้รับประกันภัยจัดทำขึ้นเพราะเหตุที่ได้มีสัญญาประกันภัยต่อกัน
ตามกรมธรรม์ประกันภัยกำหนดเงื่อนไขการรับประกันภัยว่า “ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบถึงการประกันภัยซึ่งได้มีไว้แล้วหรือที่จะมีขึ้นภายหลังในทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้นี้กับบริษัทประกันภัยอื่น เว้นแต่ได้มีการแจ้งข้อความจริงดังกล่าวและผู้รับประกันภัยได้บันทึกซึ่งรายการประกันภัยนั้นไว้ในกรมธรรม์ฉบับนี้ก่อนการเกิดสูญเสียหรือการเสียหายนั้น มิฉะนั้นผู้รับประกันภัยจะพ้นจากความรับผิดอันจะพึงมีขึ้นตามกรมธรรม์ฉบับนี้” จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่เอาประกันภัยทรัพย์สินไว้แก่ผู้รับประกันภัยไปเอาประกันภัยเพิ่มแก่บริษัทประกันภัยอื่น จะต้องแจ้งข้อความจริงนั้นให้ผู้รับประกันภัยทราบ และจะต้องให้ผู้รับประกันภัยบันทึกรายการประกันภัยเพิ่มนั้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยด้วย การไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขทั้งสองประการย่อมมีผลทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
ป.วิ.พ. มาตรา 161 และ มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยและศาลอุทธรณ์ก็มิได้แก้ไขในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาประกันภัย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับประกันภัยทรัพย์สินของโจทก์ไว้ตามฟ้อง แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะโจทก์ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่นำทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ไปประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ ๒ โดยไม่แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบ และบันทึกรายการการทำประกันภัยแก่จำเลยที่ ๒ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๘๙๕,๕๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๖ โจทก์ได้เอาประกันวินาศภัยทรัพย์สินในร้านยูไนเต็ดของโจทก์คือ สต็อกสินค้าเครื่องไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์เครื่องโทรสาร เป็นเงิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท เครื่องเฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง และของใช้ต่าง ๆ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่เอาประกันภัย ๒,๘๐๐,๐๐๐ บาท ไว้แก่จำเลยที่ ๑ โดยมีระยะเวลาประกันภัย ๑ ปี ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. ๕ และเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๖ โจทก์ได้เอาประกันวินาศภัยทรัพย์สินในร้านยูไนเต็ดคือ สต็อกสินค้าเครื่องไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์เครื่องโทรสาร จำนวนเงินที่เอาประกันภัย ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไว้แก่จำเลยที่ ๒ โดยมีระยะเวลาประกันภัย ๑ ปี ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. ๖ ต่อมาวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๓๗ ซึ่งอยู่ในระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับ ได้เกิดเพลิงไหม้ร้านยูไนเต็ดเป็นเหตุให้สต็อกสินค้าเครื่องไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์เครื่องโทรสารได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๘๙๓,๗๘๐ บาท เครื่องเฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง และของใช้ต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๑,๘๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๘๙๕,๕๘๐ บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ผู้เอาประกันภัยอาจทำสัญญาประกันภัยเป็นหลายรายในวัตถุเดียวกันได้ แต่โจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งฝ่ายผู้รับประกันภัยจัดทำขึ้นเพราะเหตุที่ได้มีสัญญาประกันภัยต่อกัน ตามกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ ๑ เอกสารหมาย จ. ๕ กำหนดเงื่อนไขการรับประกันภัยข้อ ๒. การเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยอื่น ๆ ว่า “ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงการประกันภัยซึ่งได้มีไว้แล้วหรือที่จะมีขึ้นภายหลัง ในทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้นี้กับบริษัทประกันภัยอื่น เว้นแต่ได้มีการแจ้งข้อความจริงดังกล่าวและบริษัทได้บันทึก ซึ่งรายการประกันภัยนั้นไว้ในกรมธรรม์ฉบับนี้ก่อนการเกิดสูญเสียหรือการเสียหายนั้น มิฉะนั้นบริษัทจะพ้นจากความรับผิดอันจะพึงมีขึ้นตามกรมธรรม์ฉบับนี้” เงื่อนไขจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวกำหนดให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้เอาประกันภัยที่เอาประกันภัยทรัพย์สินไว้แก่จำเลยที่ ๑ ไปเอาประกันภัยเพิ่มแก่บริษัทประกันภัยอื่น จะต้องแจ้งข้อความจริงนั้นให้จำเลยที่ ๑ ทราบ และจะต้องให้จำเลยที่ ๑ บันทึกรายการประกันภัยเพิ่มนั้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยด้วย การไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขทั้งสองประการตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อนี้ย่อมมีผลทำให้จำเลยที่ ๑ พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์นำทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ ๑ รายการแรกคือ สต็อกสินค้าเครื่องไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์เครื่องโทรสารไปเอาประกันภัยเพิ่มไว้แก่จำเลยที่ ๒ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แก้ฎีกาว่า พนักงานของจำเลยที่ ๒ แจ้งว่าไม่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงการประกันภัยเพิ่มไว้แก่จำเลยที่ ๒ แก่จำเลยที่ ๑ เพราะเป็นประเพณีของบริษัทประกันภัยรู้กันเองก็ดี หรือโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งการประกันเพิ่มไว้แก่จำเลยที่ ๒ แก่พนักงานรับโทรศัพท์ของจำเลยที่ ๑ แล้วก็ดี แต่การที่โจทก์มิได้นำกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. ๕ ไปให้จำเลยที่ ๑ บันทึกรายการประกันภัยเพิ่มไว้แก่จำเลยที่ ๒ เป็นการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขการรับประกันภัยข้อ ๒. ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงพ้นจากความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวินาศภัยสำหรับทรัพย์สินรายการแรกที่โจทก์เอาประกันภัยเพิ่มไว้แก่จำเลยที่ ๒ เงื่อนไขการรับประกันภัยข้อ ๒. ดังกล่าวเป็นข้อสาระสำคัญแห่งสัญญาแม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ในชั้นที่โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาต่อนายทะเบียนกรมการประกันภัย แต่ก็หาได้ตัดสิทธิจำเลยที่ ๑ ที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลไม่ ส่วนทรัพย์สินของโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ. ๕ รายการหลังคือ เครื่องเฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง และของใช้ต่าง ๆ ซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทนั้น โจทก์มิได้เอาประกันเพิ่มไว้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อทรัพย์สินรายการนี้ได้รับความเสียหายจากอัคคีภัยเป็นเงิน ๑,๘๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องให้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ และมาตรา ๑๖๗ กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ต้องสั่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และศาลอุทธรณ์ก็มิได้แก้ไขในเรื่องนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทั้งสามศาล และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
(สมศักดิ์ เนตรมัย – ไพศาล เจริญวุฒิ – สายันต์ สุรสมภพ)

Share