คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับโอนที่ดินเป็นชาวจีนแต่มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว พ.ศ.2485 มาตรา5,6 จึงไม่มีสิทธิจะรับโอนที่ดิน สัญญาจะซื้อขายที่ทำขึ้นไว้ ก็ใช้บังคับไม่ได้
โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่จำเลย และได้รับเงินค่าที่ดินไว้จากจำเลยเต็มจำนวนราคาขายแล้ว เมื่อศาลพิพากษาให้ทำลายนิติกรรมการซื้อขายเสีย ตามพฤติการณ์ดังนี้ โจทก์ไม่ควรได้ค่าเสียหายอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 และได้รับเงินไปแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นชาวจีนไม่มีสิทธิรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับคนต่างด้าว 2485 มาตรา 5 โจทก์ที่ 1 ได้บอกเลิกนิติกรรมการซื้อขาย และให้จำเลยที่ 1 มารับเงินคืนครั้นเดือนมกราคม 2489 จำเลยทั้งสามสมคบกันปลอมใบมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 2 ทำให้แก่นายเซียทง เพื่อจัดการโอนให้จำเลยที่ 1 เป็นว่าโอนให้แก่จำเลยที่ 3 คณะกรมการอำเภอขอนแก่นหลงเชื่อ จึงทำนิติกรรมจดทะเบียนการโอนให้แก่จำเลยที่ 3 จึงขอให้ศาลสั่งทำลายนิติกรรมการจดทะเบียนการโอน และเรียกค่าเสียหายและให้จำเลยที่ 1 รับเงิน 34,000 บาทไปจากโจทก์ จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรมและบอกเลิกสัญญาซื้อขายรายนี้ ทั้งโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้โจทก์ชนะคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะรับโอนที่ดิน เพราะเป็นคนต่างด้าวมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่เกี่ยวแก่คนต่างด้าว 2485 มาตรา 5, 6 สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงใช้บังคับไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์แก้ชื่อผู้ซื้อ คือจำเลยที่ 1 แล้วใส่ชื่อ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับโอนก็ไม่ทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลง เพราะปรากฏตามเอกสารหมาย 11 ว่าการที่จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินนั้น เป็นเพียงตัวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการขัดและหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติที่กล่าว

ส่วนค่าเสียหายเห็นว่า โจทก์ตกลงขาย และได้รับเงินไว้เต็มจำนวนราคาขายแล้ว ตามพฤติการณ์โจทก์ไม่ควรได้ค่าเสียหาย

พิพากษาแก้ในข้อที่บังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

Share