คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาประกันเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวโดยมีหลักประการตามมาตรา112แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิใช่เป็นสัญญาค้ำประกันซึ่งผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา680และมิใช่ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรว่าต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา104ไม่ตกอยู่ในบังคับตามมาตรา118แห่งประมวลรัษฎากรจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ หนังสือมอบอำนาจซึ่งจำเลยที่1มอบอำนาจให้จำเลยที่2ไปประกันตัวผู้ต้องหามีข้อความว่าจำเลยที่1ขอมอบอำนาจให้จำเลยที่2เป็นผู้มีอำนาจนำโฉนดที่ดินไปประกันตัวจ.ผู้ต้องหาไปจากความควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนแทนจำเลยที่1จนเสร็จการและจำเลยที่1ยอมรับผิดชอบในการที่ผู้รับมอบอำนาจได้ทำไปตามที่มอบอำนาจนี้ภายในวงเงินไม่เกินราคาที่ดินโฉนดข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าจำเลยที่1มอบอำนาจให้จำเลยที่2มีอำนาจไปประกันตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนแทนจำเลยที่1จนเสร็จการจึงเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์10บาทตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ7(ก) คำว่า”กระทำ”ในบทนิยามมาตรา103แห่งประมวลรัษฎากรเมื่อใช้เกี่ยวกับตราสารหมายความว่าการลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การที่จำเลยที่2ผู้รับมอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อตามที่พนักงานสอบสวนนัดให้ส่งตัวผู้ต้องหาหลายครั้งที่ด้านหลังสัญญาประกันจึงมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่1มอบอำนาจให้จำเลยที่2กระทำการมากกว่าครั้งเดียวแต่เป็นกรณีที่จำเลยที่2ต้องปฎิบัติตามเงื่อนเวลาที่พนักงานสอบสวนกำหนดให้ผู้ประกันต้องปฎิบัติตามในการส่งตัวผู้ต้องหาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดิน 3 ฉบับ ของจำเลยที่ 1มาทำสัญญาประกันตัวนางเจษสุดา หมู่เจริญ ผู้ต้องหาผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยจำเลยที่ 2สัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ตามกำหนดนัด ถ้าผิดสัญญาจำเลยที่ 2 ยอมใช้เงิน 100,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าปรับตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 107,500 บาทและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มาประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่เคยประกันตัวผู้ต้องหาตามที่โจทก์อ้าง สัญญาประกันตัวเป็นโมฆะขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน107,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินจำนวน 100,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อกฎหมายข้อแรกว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.7 ลงลายมือชื่อผู้ประกันและมีข้อความว่าเมื่อผิดสัญญาจะใช้เงินจำนวน 100,000 บาท ตามที่ระบุไว้ซึ่งต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 จึงเป็นสัญญาค้ำประกันหนี้อย่างหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 แต่สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.7 เป็นสัญญาประกันเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวโดยมีหลักประกัน ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิใช่เป็นสัญญาค้ำประกันซึ่งผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680และสัญญาประกันตามเอกสารหมาย จ.7 ก็มิใช่ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรว่าต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 ย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 118แห่งประมวลรัษฎากร ดังที่จำเลยอ้าง จึงรับฟังเอกสารหมาย จ.7เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อกฎหมายข้อสุดท้ายว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปประกันตัวผู้ต้องหาปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท ไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 2ต้องลงลายมือชื่อที่ด้านหลังของสัญญาประกันรับทราบกำหนดวันนัดล่วงหน้าเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนอีกหลายครั้งถือได้ว่าเป็นการมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ผู้ประกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวตามความหมายของคำว่า กระทำ ตามบทนิยามในมาตรา 103แห่งประมวลรัษฎากร และหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นใบมอบอำนาจตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7(ข) ต้องตกอยู่ในบังคับมาตรา 104แห่งประมวลรัษฎากรที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ โดยต้องปิดอากรแสตมป์ 30 บาท จึงจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้แต่เอกสารหมาย จ.5 ปิดอากรแสตมป์ไว้ 10 บาท ถือว่าปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 โจทก์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.5 แล้วมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 1 ขอมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2เป็นผู้มีอำนาจนำโฉนดที่ดิน 3 โฉนดตามที่ระบุไว้ไปประกันตัวนางเจษสุดา หมู่เจริญ ผู้ต้องหาจ่ายเช็คโดยเจตนาไม่ให้ใช้เงินตามเช็คไปจากความควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมากแทนข้าพเจ้า (จำเลยที่ ) จนเสร็จการ และข้าพเจ้ายอมรับผิดชอบในการที่ผู้รับมอบอำนาจของข้าพเจ้าได้ทำไปตามที่มอบอำนาจนี้ภายในวงเงินไม่เกินราคาที่ดินในโฉนดนี้ เห็นว่าข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจไปประกันตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนแทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการ การมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบให้กระทำการครั้งเดียว ต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ก) ดังนั้นเอกสารหมาย จ.5 จึงปิดอากรแสตมป์ถูกต้องแล้ว รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ว่าจำเลยที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจประกันตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 2ต้องลงชื่อรับทราบกำหนดวันส่งตัวผู้ต้องหาที่ด้านหลังสัญญาประกันหลายครั้ง เป็นการกระทำการมากกว่าครั้งเดียวโดยอ้างนิยามคำว่า”กระทำ” ในบทนิยามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดคำว่า “กระทำ” เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสารหมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อตามที่พนักงานสอบสวนนัดให้ส่งตัวผู้ต้องหาหลายครั้งที่ด้านหลังสัญญาประกัน จึงมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 กระทำการมากกว่าครั้งเดียว แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2ต้องปฎิบัติตามเงื่อนเวลาที่พนักงานสอบสวนกำหนดให้ผู้ประกันต้องปฎิบัติในการส่งตัวผู้ต้องหาเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share