คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตันหนองงูเห่าและทางแยกเข้าหนองงูเห่าพ.ศ.2522ได้ตราออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามข้อ78แห่งป.ว.295อายุการบังคับใช้ของพระราชกฤษฎีกาจึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในป.ว.295ซึ่งได้บัญญัติไว้ในข้อ79ว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้10ปีและหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมป.ว.295(ฉบับที่2)พ.ศ.2530และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มีผลใช้บังคับแล้วการดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ยังไม่เสร็จสิ้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯและในขณะดำเนินคดีนี้ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ออกใช้บังคับดังนั้นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา21ซึ่งมาตรา21ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง(1)ถึง(5)เงินค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนที่ดินและสังคมควรเป็นราคาตามราคาประเมินที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมระหว่างพ.ศ.2531-2534ของกรมที่ดินซึ่งใช้ก่อนและในช่วงเวลาที่จำเลยที่1วางเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา26วรรคสามโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่รัฐมนตรีฯและศาลฎีกาวินิจฉัยให้ชำระเพิ่มขึ้นนับแต่จำเลยที่1วางเงินค่าทดแทนในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินตามคำขอของโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีจำเลยที่ 2เป็นอธิบดีโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 55147ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน ราคาที่จำเลยทั้งสองและคณะกรรมการร่วมกันกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ไม่เป็นธรรม โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพิ่มขึ้นแต่โจทก์เห็นว่า จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 3,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 9,687 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน2522 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2522 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ. 2522 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่2 พฤศจิกายน 2522 เป็นต้นไป ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523ได้มีประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่าเป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน และวันที่ 13 สิงหาคม 2532มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมากเขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศ เขตพระโขนง และแขวงคลองสองตันนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิวเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน-ลาดกระบัง พ.ศ. 2532 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 7 กันยายน 2532 เป็นผลให้ที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 55147 เนื้อที่ 263 ตารางวา ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าวไปเป็นเนื้อที่ 256 ตารางวา และคณะกรรมการปรองดองฯ ได้พิจารณากำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 140,500 บาทโจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในที่สุดได้มีการพิจารณาเพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์ใหม่จากเดิมตารางวาละ 1,000 บาทเป็นตารางวาละ 1,135 บาทและตารางวาละ 500 บาท เป็นตารางวาละ527 บาท รวมเป็นเงิน 150,187 บาท โจทก์ฟ้องขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเฉพาะที่ดินเนื้อที่ 256 ตารางวา มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใดโดยโจทก์ฎีกาว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดระยะเวลาการใช้บังคับไว้จึงมีผลใช้บังคับเพียง 2 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 และสิ้นผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2524หลังจากนั้นไม่มีพระราชกฤษฎีกาฯ ต่อมาเลย กรณีจึงต้องถือว่าการเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมากเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน-ลาดกระบังพ.ศ. 2532 มิได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 คดีนี้ทางราชการได้เวนคืนที่ดินของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนดังกล่าวซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2532 ต้องถือว่ามีการเวนคืนที่ดินของโจทก์ตามวันเวลาดังกล่าว หาใช่มีการเวนคืนที่ดินของโจทก์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 ไม่ การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์จึงชอบที่จะใช้ราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในช่วงระยะเวลาวันที่ 7 กันยายน 2532 เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาค่าทดแทน เห็นว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่าพ.ศ. 2522 ได้ตราออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 78 แห่งประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2514 อายุการบังคับใช้ของพระราชกฤษฎีกาจึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฎิวัติฉบับดังกล่าว ซึ่งได้บัญญัติไว้ในข้อ 79 ว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงให้ใช้ได้มีกำหนด 10 ปี ดังนั้นพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวซึ่งมีผลบังคับใช้ได้ 10 ปี นับแต่วันที่10 พฤศจิกายน 2522 มิใช่มีอายุ 2 ปี หรือ 4 ปี ดังที่โจทก์ฎีกาแม้ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงข้อ 63 ถึงข้อ 80แห่งประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 295 แล้วก็ตาม แต่มาตรา 9 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างและประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ให้คงใช้บังคับได้ตามอายุของพระราชกฤษฎีกานั้น และวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติทำนองเดียวกันกับมาตรา 36 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ว่า การเวนคืนและการปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฎิบัติไปแล้วก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ดังนั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่แขวงหัวหมาก เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน-ลาดกระบัง พ.ศ. 2532มีผลใช้บังคับวันที่ 7 กันยายน 2532 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ การเวนคืนรายนี้จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่ามีการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และหลังจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2530 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ยังไม่เสร็จสิ้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และในขณะดำเนินคดีนี้ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ออกใช้บังคับซึ่งข้อ 1บัญญัติว่าให้ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24″ และข้อ 5วรรคหนึ่งบัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้น การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งมาตรา 21 บัญญัติว่าเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม มาตรา 21 นี้ ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1)ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5)นั้นย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่าและทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ. 2522 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 แล้ว แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งวางเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533 การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการชดใช้ค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า10 ปี เป็นการดำเนินการที่มิได้เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 33 วรรคสาม ซึ่งใช้บังคับในขณะที่ที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดเป็นเขตแนวทางหลวงตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นการที่กำหนดเงิน เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (4) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ใน พ.ศ. 2522 อันเป็นปีที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ. 2522อย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ สำหรับคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่เป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนที่ดินและสังคมควรเป็นราคาตามราคาประเมินที่ดินเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมระหว่างพ.ศ. 2521-2534 ของกรมที่ดิน ซึ่งใช้ก่อนและในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 วางเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดีปรากฏจากบัญชีราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย จ.13แผ่นที่ 2 หรือ ล.2 ประกอบคำเบิกความของนายรังสรรค์ ธีรชัยสามีโจทก์พยานโจทก์ว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ในหน่วยที่ 4 ของบัญชีราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งมีราคาตารางวาละ 3,500 บาทจึงกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 3,500 บาท โจทก์ถูกเวนคืนที่ดินรวม 256 ตารางวา คิดเป็นเงินจำนวน 896,000 บาทจำเลยทั้งสองและรัฐมนตรีฯ ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์รวมแล้วเป็นเงิน 150,187 บาท ส่วนที่ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกจึงเป็นเงิน 745,813 บาท
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่รัฐมนตรีฯและศาลฎีกาวินิจฉัยให้ชำระเพิ่มขึ้นรวมกันจำนวน 755,500 บาทนับแต่วันที่ 4 มกราคม 2533 อันเป็นวันที่ จำเลยที่ 1 วางเงินค่าทดแทน ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่เนื่องจากโจทก์ฎีกาขอค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 355,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปเท่านั้น ดังนั้นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยและจำนวนเงินต้นที่คิดดอกเบี้ยจึงต้องไม่เกินตามคำขอของโจทก์ด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น 745,813 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงิน755,000 บาท แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 13 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share