คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา267วรรคสองไม่ว่าจำเลยทั้งหกจะขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา262หรือศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำขอในกรณีธรรมดาก็ตามโจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งดังกล่าวอีกไม่ได้การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกเลิกคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทเจริญแสงพาณิชย์ (1959) จำกัด ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายจำเริญ จิตต์กุศล และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6ผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ห้ามมิให้จำเลยทั้งหกกระทำการใด ๆเป็นการขัดขวางหรือรบกวนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะกรรมการของบริษัท และให้ร่วมกันส่งตราสารใด ๆ เงิน ทรัพย์สินสรรพบัญชี เอกสารประกอบการ เอกสารหรือสิ่งใดที่เป็นของบริษัทหรือผู้ถือหุ้นให้โจทก์ในฐานะกรรมการบริษัทเพื่อโจทก์ปฏิบัติตามหน้าที่ ระหว่างพิจารณา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในกรณีมีเหตุฉุกเฉินศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งในวันเดียวกัน ห้ามมิให้จำเลยทั้งหกกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะกรรมการของบริษัทเจริญแสงพาณิชย์ (1959) จำกัดให้จำเลยทั้งหกร่วมกันส่งตราสารใด ๆ เงิน ทรัพย์สิน สรรพบัญชีเอกสารประกอบการบัญชีที่เป็นของบริษัทหรือของผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ในความครอบครองของบริษัทให้แก่โจทก์ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการของบริษัท และได้ออกหมายห้ามชั่วคราว ลงวันที่7 พฤษภาคม 2534 ถึงจำเลยทั้งหก
จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องว่า ก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งหกตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 24985/2533ของศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทเจริญแสงพาณิชย์ (1959) จำกัด ที่ได้ประชุมลงมติให้ถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533และโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยห้ามมิให้นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทไว้เป็นการชั่วคราว จำเลยทั้งหกยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งศาลชั้นต้น นายทะเบียนจึงได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทโดยถอดถอนโจทก์จากการเป็นกรรมการและตั้งให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ขอให้ยกเลิกคำสั่งและให้เพิกถอนหมายห้ามชั่วคราวฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 262
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ที่นายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการและตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการชุดใหม่ของบริษัทเจริญแสงพาณิชย์ (1959) จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ได้ฟ้องกรมทะเบียนการค้ากับพวกต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2534ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายตามคดีปกครองหมายเลขดำที่ ปค. 158/2534 ของศาลชั้นต้น นอกจากนี้ในคดีหมายเลขดำที่ 24985/2533 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ฐานะกรรมการของโจทก์ยังคงมีอยู่และภายหลังที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการชุดใหม่ตามคำสั่งของนายทะเบียนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 แล้วการบริหารงานของกรรมการชุดใหม่ทำให้บริษัทประสบการขาดทุนโจทก์จึงเห็นว่า กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรและมีเหตุพอที่จะยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและเพิกถอนหมายห้ามชั่วคราว ขอให้ยกคำร้อง
ชั้นไต่สวนคำร้อง จำเลยที่ 2 เข้าเบิกความเป็นพยานตอบคำซักถามของทนายจำเลยทั้งหกเสร็จ แล้วทนายโจทก์ถามค้าน แต่ยังไม่จบปากได้ขอเลื่อนคดีไปซักค้านพยานปากจำเลยที่ 2 ในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาต ครั้นถึงวันนัดไต่สวนต่อมาทนายจำเลยทั้งหกยื่นคำแถลงว่าไม่ติดใจไต่สวนพยานบุคคลต่อไป และไม่ติดใจในคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นสำเนาให้ทนายโจทก์ ทนายโจทก์แถลงคัดค้านว่าโจทก์ยังติดใจในคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และติดใจที่จะซักค้านพยานจำเลยต่อศาลชั้นต้น เห็นว่า คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งที่อนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 262 และให้เพิกถอนหมายห้ามชั่วคราว ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2534
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่6 พฤษภาคม 2534 ให้นำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาบังคับโดยห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในฐานะกรรมการของบริษัทแสงเจริญพาณิชย์ (1959) จำกัด และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันส่งตราสารใด ๆ เงิน ทรัพย์สิน สรรพบัญชี เอกสารประกอบการบัญชีที่เป็นของบริษัทดังกล่าว หรือของผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ในความครอบครองของบริษัทแสงเจริญพาณิชย์ (1959) จำกัด ให้แก่โจทก์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการของบริษัทแสงเจริญพาณิชย์ (1959)จำกัด เป็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินตามคำร้องของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นได้ไต่สวนคำร้อง ขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของจำเลย และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งที่อนุญาตให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยเพิกถอนหมายห้ามชั่วคราวของศาล ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 แล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกเลิกคำสั่งเดิมดังกล่าวตามคำขอของจำเลยจึงเป็นที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสองทั้งนี้ไม่ว่าตามคำขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของจำเลยทั้งหกจะขอให้ยกเลิกโดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 262แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำขอของจำเลยทั้งหกในกรณีธรรมดาก็ตาม คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกเลิกคำสั่งเดิมดังกล่าวก็เป็นการสั่งตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 262 วรรคสอง นั่นเอง ดังนั้นโจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวอีกไม่ได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งยกเลิกคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วปัญหาอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายก คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ และ ยก ฎีกา โจทก์

Share