แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 คำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัวการร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้ ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางบ่อ ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2540 สั่งจ่ายเงินจำนวน 2,827,500 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรือในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คหรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้ หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (3) (5)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 2,827,500 บาท และจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย มิใช่เช็คที่จำเลยที่ 1 ออกเพื่อเป็นประกันหนี้ให้โจทก์ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเพียงผู้สลักหลังเช็คพิพาทมิใช่ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทแต่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 นั้น คำว่า “ผู้ใดออกเช็ค” มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัวการร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คได้ การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาท มอบให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทแล้วร่วมกันรับรองแก่โจทก์ว่า เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดสามารถเรียกเก็บเงินได้อย่างแน่นอนเช่นนี้ ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงฟังได้มั่นคงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง มูลหนี้ตามเช็คมาจากหนี้เงินกู้ที่จำเลยทั้งสองไปกู้จากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินรวม 9 แปลง เป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวไว้เต็มจำนวน โจทก์จึงสามารถบังคับจำนองเอาเงินชำระหนี้เงินกู้อันเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อยู่แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตนเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษจำคุกให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษแก่จำเลยทั้งสองไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 1