คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกระทงความผิดและกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับ ซึ่งการเพิ่มโทษจำเลยในความผิดใด โทษที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมรวมเป็นโทษที่ศาลจะนำไปกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับในความผิดนั้น ดังนั้น จึงต้องนำการเพิ่มโทษมาคำนวณในการใช้สิทธิฎีกาด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ได้รับให้จำคุกแต่ละกระทงเกิน 5 ปี จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2550)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 24 เม็ด น้ำหนัก 2.188 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับ 3 เม็ด น้ำหนัก 0.273 ในราคา 230 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลมะขามหย่ง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 24 เม็ด และธนบัตรล่อซื้อเป็นของกลาง ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้น ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3998/2542 จำคุก 12 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นความผิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในขณะที่มีอายุเกินกว่า 17 ปีแล้ว และไม่ใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษและภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 พ้นโทษดังกล่าว จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรล่อซื้อแก่เจ้าของ และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่), 97 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด 2 กรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 15 ปี และปรับ 600,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ไม่ปรับจำเลยทั้งสอง ส่วนโทษจำคุกและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จะนำการเพิ่มโทษมาคำนวณในการใช้สิทธิฎีกาด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกระทงความผิดและกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับ ซึ่งการเพิ่มโทษจำเลยในความผิดใดโทษที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมรวมเป็นโทษที่ศาลจะนำไปกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับในความผิดนั้น ดังนั้น จึงต้องนำการเพิ่มโทษมาคำนวณในการใช้สิทธิฎีกาด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 15 ปี และปรับ 600,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยปรับบทกำหนดโทษให้ถูกต้องและไม่ลงโทษปรับ แต่ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 9 ปี ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้แก้ไขนั้นยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 6 ปี จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ได้รับให้จำคุกแต่ละกระทงเกิน 5 ปี จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 24 เม็ด น้ำหนัก 2.188 กรัม และธนบัตรกับเหรียญรวม 230 บาท เป็นของกลาง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกพละ ธาราศักดิ์ และสิบตำรวจโทณรงค์ คาดสมบูรณ์ ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองและพันตำรวจโทประพจน์ เทพวัตร์ พนักงานสอบสวนเบิกความได้ความว่า ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2545 สายลับมาแจ้งให้ทราบว่าจำเลยทั้งสองจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่บ้านเกิดเหตุ วันที่ 1 มีนาคม 2545 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา สายลับมาแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่าจำเลยทั้งสองกำลังจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่บ้านดังกล่าวให้รีบไปจับกุม จึงวางแผนล่อซื้อจับกุมโดยนำธนบัตรฉบับละ 100 บาท 2 ฉบับ ฉบับละ 20 บาท 1 ฉบับ ไปถ่ายสำเนามอบให้สายลับและสิบตำรวจโทณรงค์แต่งกายนอกเครื่องแบบปลอมตัวไปล่อซื้อ ร้อยตำรวจเอกพละกับพวกที่เหลือจอดรถซุ่มอยู่ที่วัดราษฎร์บำรุง ห่างบ้านเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร เวลา 12 นาฬิกาเศษ สายลับและสิบตำรวจโทณรงค์เดินไปที่บ้านดังกล่าว พบจำเลยที่ 2 กำลังซักผ้าที่บ่อน้ำหลังบ้าน สายลับสอบถามและขอซื้อเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 2 บอกให้รอแล้วเดินไปที่ประตูบ้านตะโกนบอกจำเลยที่ 1 ว่ามีคนมาซื้อของ จำเลยที่ 1 เดินมาถามว่าต้องการกี่เม็ด สายลับว่า 3 เม็ด จำเลยที่ 1 บอกราคา 230 บาท สายลับตกลงซื้อแล้วจำเลยทั้งสองเดินเข้าไปในห้อง สายลับบอกสิบตำรวจโทณรงค์ว่าเงินขาดอยู่ 10 บาท สิบตำรวจโทณรงค์จึงส่งเหรียญ 10 บาท ให้สายลับ ครู่หนึ่งจำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด บรรจุในหลอดกาแฟสั้นมามอบให้ สายลับส่งธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและเหรียญ 10 บาท ให้จำเลยที่ 2 สิบตำรวจโทณรงค์กดปุ่มวิทยุสื่อสารส่งสัญญาณให้ร้อยตำรวจเอกพละกับพวกทราบตามที่ตกลงกันไว้ ร้อยตำรวจเอกพละกับพวกพากันไปที่บ้านและเข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสอง ค้นพบธนบัตรและเหรียญ 10 บาท ที่ใช้ล่อซื้อพร้อมเมทแอมเฟตามีนอีก 21 เม็ด ซ่อนอยู่ในโคมฝาครอบหลอดไฟฟ้าเพดานกลางห้องพักในบ้านดังกล่าวตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ สอบถามจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับว่าได้ธนบัตรและเหรียญดังกล่าวมาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้สายลับ จึงแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ตามบันทึกการจับกุมและสำเนาธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เห็นว่า สิบตำรวจโทณรงค์เป็นประจักษ์พยานผู้ล่อซื้อร่วมกับสายลับเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สอบถามถึงจำนวนเมทแอมเฟตามีนที่ต้องการซื้อและแจ้งราคาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ทราบจนมีการตกลงจำหน่าย ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนและชำระราคา พยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ เบิกความสอดคล้องกัน ทั้งตรงกับพยานเอกสารชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน โดยไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะมาปรักปรำจำเลยที่ 1 คำเบิกความพยานโจทก์จึงน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นจับกุมตลอดมานั้นน่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 มีประสบการณ์เนื่องจากเคยถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนและศาลมีคำพิพากษาลงโทษมาก่อน คำให้การปฏิเสธของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริสุทธิ์ จำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนในวันเกิดเหตุ ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหามีใจความว่า จำเลยที่ 2 พักอยู่ที่ห้องในบ้านเช่าที่เกิดเหตุกับนายสมทบสามีซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส นายอ้วนไม่ทราบชื่อสกุล เป็นผู้เช่าห้องพักที่บ้านดังกล่าวอีกห้องหนึ่ง ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่ทราบชื่อตัวและชื่อสกุลจริง ไม่ทราบว่ามีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ใด จำเลยที่ 2 เพิ่งรู้จักกับนายอ้วนเพราะนายอ้วนเพิ่งมาเช่าห้องพักบ้านเดียวกันก่อนเกิดเหตุประมาณ 10 วัน และเห็นนายอ้วนจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ห้องพักของนายอ้วนเป็นประจำ วันเกิดเหตุเมื่อสายลับมาขอซื้อเมทแอมเฟตามีน นายอ้วนไม่อยู่ จำเลยที่ 2 เข้าไปหยิบเมทแอมเฟตามีนในห้องนายอ้วนมาจำหน่ายให้แทนและวางเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไว้ที่หลังตู้เย็นในห้องของนายอ้วน แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองนำสืบทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยานายสมทบหรืออ้น นาวาเจริญ นายสืบสกุล หรืออ้วน นาวาเจริญ ผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นพี่ชายนายสมทบซึ่งหลบหนีไปได้ก่อนจำเลยทั้งสองถูกจับกุม วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไปบอกนายสืบสกุลว่าสายลับมาขอซื้อเมทแอมเฟตามีน และนำเมทแอมเฟตามีนจากนายสืบสกุลไปให้สายลับและรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากสายลับไปมอบให้นายสืบสกุล จึงแตกต่างกันเป็นพิรุธ พยานจำเลยที่ 1 คงมีเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีพยานอื่นสนับสนุนให้น่าเชื่อ พยานหลักฐานโจทก์ได้ ส่วนที่คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ไม่ตรงกับคำเบิกความของสิบตำรวจโทณรงค์เรื่องสายลับไปติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนและจำนวนเงินที่ใช้ในการล่อซื้อก็มิใช่ข้อพิรุธของพยานโจทก์ที่จะให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา เพราะจำเลยที่ 2 ย่อมต้องเบิกความเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอยู่ด้วยกันเป็นธรรมดา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share