คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9517/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทร. ได้ก่อสร้างอาคารตึกแถวขายพร้อมกับที่ดินโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่40724เนื้อที่28ตารางวาพร้อมกับอาคารตึกแถวเลขที่1535/83ส่วนจำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่40722เนื้อที่17ตารางวาพร้อมอาคารตึกแถวเลขที่1535/85ต่อมาโจทก์ขอรังวัดที่ดินเพื่อต่อเติมอาคารปรากฏว่าอาคารตึกแถวของจำเลยมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์คงรุกล้ำเฉพาะกันสาดคอนกรีตซึ่งสร้างขึ้นพร้อมอาคารดังนี้เมื่อจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้างอาคารตึกแถวพิพาทรวมทั้งกันสาดคอนกรีตที่สร้างพร้อมกับอาคารตึกแถวดังกล่าวและเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ต้องนำบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1312วรรคแรกมาใช้บังคับโดยถือว่าการที่กันสาดคอนกรีตดังกล่าวรุกล้ำนั้นเป็นมาโดยสุจริตจำเลยจึงไม่จำต้องรื้อกันสาดคอนกรีตที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาว่าฉ. เจ้าพนักงานผู้รังวัดทำแผนที่วิวาทตามคำสั่งศาลชั้นต้นรังวัดผิดพลาดเพราะมิได้รังวัดโดยถือเอาหลักหมุดด้านหน้าที่ดินของโจทก์เป็นหลักคำเบิกความของฉ. จึงไม่ควรแก่การรับฟังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าอาคารตึกแถวพิพาทของจำเลยมิได้ปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์คงรุกล้ำเฉพาะกันสาดคอนกรีตเท่านั้นทั้งตามฎีกาของโจทก์ก็ขอเพียงให้จำเลยรื้อกันสาดคอนกรีตและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่านั้นมิได้ขอให้รื้ออาคารตึกแถวพิพาทด้วยประเด็นในชั้นฎีกาจึงไม่มีว่าอาคารตึกแถวพิพาทของจำเลยปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่และการรังวัดทำแผนที่วิวาทชอบหรือไม่ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารและกันสาดส่วนที่รุกล้ำออกไปและขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายขาดประโยชน์ในการที่จะใช้สอยอาคารส่วนที่ถูกรุกล้ำของโจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ5,000บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปีไปจนกว่าจะรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำจึงเป็นคดีที่มีคำขอที่ไม่มีและมีทุนทรัพย์รวมกันอยู่ด้วยจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงในเรื่องค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40724 เนื้อที่ 28 ตารางวา พร้อมอาคารเลขที่ 1535/83ตำบลทุ่งวัดดอน (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานครส่วนจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40722พร้อมอาคารเลขที่ 1535/85 อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ ประมาณเดือนกันยายน 2532 โจทก์จะต่อเติมอาคารเลขที่ 1535/83 จึงให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบรังวัดที่ดินของโจทก์ ปรากฏว่าอาคารเลขที่ 1535/83 ของจำเลยปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์บางส่วนลึก(กว้าง) ประมาณ 1.75 เมตร ยาวประมาณ 4 เมตร ตลอดแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ดินโจทก์ และจำเลยก่อสร้างหน้าต่างและกันสาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์อันเป็นการละเมิดโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำดังกล่าวแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถต่อเติมอาคารเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยคิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่าเดือนละ5,000 บาท นับแต่เดือนกันยายน 2532 ถึงเดือนที่ฟ้องเป็นเงินรวม 45,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่รุกล้ำลึก(กว้าง) ประมาณ 1.35 เมตร ยาวประมาณ 4 เมตร ตลอดแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งหน้าต่างและกันสาดของอาคารทุกชั้นที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่จัดการ ให้โจทก์เป็นผู้จัดการแทนจำเลยโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 45,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนอาคารหน้าต่าง และกันสาดที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมบริษัทรุ่งเพชรการเคหะ จำกัดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3478บริษัทรุ่งเพชรการเคหะ จำกัด ปลูกตึกแถวและแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจำหน่าย โจทก์จองซื้ออาคารเลขที่ 1535/83 เดือนธันวาคม2524 จำเลยจองซื้ออาคารเลขที่ 1535/83 บริษัทรุ่งเพชรการเคหะจำกัด ได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวพร้อมหน้าต่างและกันสาดและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2526 และครอบครองโดยสุจริตและเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวสร้างอาคาร หน้าต่าง และกันสาดในเขตที่ดินของจำเลยมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ถ้าหากรุกล้ำก็เป็นการรุกล้ำโดยสุจริตเพราะจำเลยก็มิได้เป็นผู้ปลูกรุกล้ำจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรื้อถอนอาคารของจำเลยพร้อมหน้าต่างและกันสาด เป็นเรื่องที่โจทก์จะไปว่ากล่าวและเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทรุ่งเพชรการเคหะ จำกัด หากโจทก์เสียหายก็ไม่ควรเกินเดือนละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกันสาดอะลูมิเนียมชั้นที่ 2และที่ 3 ของอาคารเลขที่ 1535/85 ซอยรุ่งเพชร ถนนจันทร์แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งว่า บริษัทรุ่งเพชรการเคหะ จำกัด ได้ก่อสร้างอาคารตึกแถวขายพร้อมกับที่ดินตามสำเนาแผนผังเอกสารหมาย ล.6 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 40724 เนื้อที่ 28 ตารางวา พร้อมกับอาคารตึกแถวเลขที่ 1535/83 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2526 ตามเอกสารหมายจ.3 ส่วนจำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 40722 เนื้อที่ 17 ตารางวาพร้อมอาคารตึกแถวเลขที่ 1535/85 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2526ตามเอกสารหมาย จ.4 และ ล.2 ต่อมาโจทก์ขอรังวัดที่ดินเพื่อต่อเติมอาคาร เจ้าพนักงานรังวัดแล้วปรากฏว่าเนื้อที่ดินโจทก์มี26.65 ตารางวา โจทก์จึงฟ้องจำเลยอ้างว่าอาคารตึกแถวของจำเลยรวมทั้งกันสาดคอนกรีตและกันสาดอะลูมิเนียมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นสั่งให้ทำแผนที่วิวาท ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์คงมีเนื้อที่ 28 ตารางวาอาคารตึกแถวของจำเลยมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์คงรุกล้ำเฉพาะกันสาดคอนกรีตซึ่งสร้างขึ้นพร้อมอาคารและกันสาดอะลูมิเนียมที่จำเลยสร้างขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยจะต้องรื้อกันสาดคอนกรีตที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ในข้อนี้ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยนายวิชัย ตรีเทวะวงษา บุตรจำเลยและนายเหลียง พรสุขจันทรา กรรมการผู้จัดการบริษัทรุ่งเพชรการเคหะ จำกัด มาเบิกความสอดคล้องต้องกันยืนยันว่าอาคารตึกแถวพิพาทของจำเลยรวมทั้งกันสาดคอนกรีตดังกล่าวบริษัทรุ่งเพชรการเคหะ จำกัด ได้ให้ผู้รับเหมาเป็นผู้ก่อสร้างตามแบบที่ได้รับอนุญาตจากเขตยานนาวาแล้วจำเลยมิได้เป็นผู้ก่อสร้าง ผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลยไม่เกี่ยวข้องด้วยที่จะไปบอกให้มีการสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นกันสาดหรือหน้าต่างก็ตาม ทางบริษัทรุ่งเพชรการเคหะ จำกัดเป็นผู้กำหนดแบบแปลนและก่อสร้างตามแบบแปลนนั้นทั้งสิ้นพยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยนำสืบ จึงมีน้ำหนักดียิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้างอาคารตึกแถวพิพาทรวมทั้งกันสาดคอนกรีตที่สร้างพร้อมกับอาคารตึกแถวดังกล่าว และเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ต้องนำบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 วรรคแรก มาใช้บังคับ โดยถือว่าการที่กันสาดคอนกรีตดังกล่าวรุกล้ำนั้นเป็นมาโดยสุจริต จำเลยจึงไม่จำต้องรื้อกันสาดคอนกรีตที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์
ที่โจทก์ฎีกาว่า นายเฉลิมศักดิ์ ทะสะภาค เจ้าพนักงานผู้รังวัดทำแผนที่วิวาทตามคำสั่งศาลชั้นต้นรังวัดผิดพลาดเพราะมิได้รังวัดโดยถือเอาหลักหมุดด้านหน้าที่ดินของโจทก์เป็นหลักคำเบิกความของนายเฉลิมศักดิ์จึงไม่ควรแก่การรับฟังนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่าอาคารตึกแถวพิพาทของจำเลยมิได้ปลูกรุกล้ำที่ดินของโจทก์คงรุกล้ำเฉพาะกันสาดคอนกรีตเท่านั้นทั้งตามฎีกาของโจทก์ก็ขอเพียงให้จำเลยรื้อกันสาดคอนกรีตและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่านั้น มิได้ขอให้รื้ออาคารตึกแถวพิพาทด้วยประเด็นในชั้นฎีกาจึงไม่มีว่าอาคารตึกแถวพิพาทของจำเลยปลูกรุกล้ำที่ดินโจทก์หรือไม่ และการรังวัดทำแผนที่วิวาทชอบหรือไม่ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่จำต้องวินิจฉัย
สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายนั้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องค่าเสียหายโดยเห็นว่าจำนวนค่าเสียหายที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาทต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคแรก นั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารและกันสาดส่วนที่รุกล้ำออกไปและขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายขาดประโยชน์ในการที่จะใช้สอยอาคารส่วนที่ถูกรุกล้ำของโจทก์ เป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ไปจนกว่าจะรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำ จึงเป็นคดีที่มีคำขอที่ไม่มีและมีทุนทรัพย์รวมกันอยู่ด้วยจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงในเรื่องค่าเสียหายและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียก่อน และเห็นว่าเมื่อปรากฏว่าจำเลยเพียงแต่สร้างกันสาดอะลูมิเนียมชั้นที่ 2และที่ 3 รุกล้ำที่ดินโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษาให้จำเลยรื้อถอน และได้รื้อถอนเสร็จสิ้นไปแล้ว โจทก์นำสืบลอย ๆ เพียงว่าไม่สามารถต่อเติมอาคารได้ เสียหายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาทโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนดังกล่าวจริงทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ยังไม่ปรากฏว่าโจทก์เริ่มดำเนินการต่อเติมอาคารในบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่รังวัดที่ดินแล้วทราบว่ากันสาดของจำเลยรุกล้ำเท่านั้น ทั้งปรากฏว่าจำเลยได้รื้อกันสาดอะลูมิเนียมที่รุกล้ำออกไปแล้ว จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์เสียหายเดือนละ 5,000 บาท ดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share