คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1896/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 เป็นการให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายที่ลูกจ้างได้รับ หาใช่เป็นการตัดสิทธิของลูกจ้างซึ่งได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่จะฟ้องเรียกร้องไม่ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแล้ว กรณีย่อมถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 และ 49 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลแรงงานได้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง และอ้างความเป็นมาของการเลิกจ้างว่า จำเลยมีหนังสือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ไปเป็นตำแหน่งที่ด้อยกว่าเดิมมาก เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ และเมื่อโจทก์ร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและแรงงานจังหวัดชลบุรีว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่ครบถ้วน เป็นเหตุให้สำนักงานดังกล่าวสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพิ่มเติม จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอคิดค่าเสียหายโดยคำนวณจากเงินเดือนที่เคยได้รับและค่าตรวจรักษาคนไข้เป็นเวลา 5 ปี ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 16,068,480 บาท ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดจำนวน 10,000,000 บาท และดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ระบุให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจเองว่าการเลิกจ้างใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมิได้ให้สิทธิแก่คู่ความเป็นฝ่ายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาล สัญญาจ้างโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์เป็นสัญญาที่มีระยะเวลา 2 ปี โจทก์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาเกินกว่า 2 ปีแล้ว ทั้งโจทก์มีปัญหาทางด้านการบริหารงาน จำเลยจึงเสนอให้โจทก์ลาออกโดยจะจ่ายค่าชดเชยให้ 6 เดือน ตามกฎหมายฉบับเก่าแต่โจทก์ทราบดีว่าหากจำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์หลังจากวันที่ 19 สิงหาคม 2541 โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเป็นเวลา 10 เดือน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ โจทก์จึงไม่ยอมลาออก เป็นเหตุให้จำเลยต้องเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุเกษียณอายุ เพราะขณะนั้นโจทก์มีอายุ 60 ปีเศษแล้ว โดยจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์จำนวน 10 เดือนของค่าจ้างอัตราสุดท้ายการเลิกจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ประกาศเรื่องเปลี่ยนตำแหน่งโจทก์กับประกาศเรื่องการพ้นสภาพจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของโจทก์นั้นเป็นการประกาศไปตามความเป็นจริง จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 จนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝ่ายการแพทย์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 124,760 บาท และโจทก์ทำหน้าที่แพทย์ทางด้านศัลยกรรมควบคู่ไปด้วย โดยได้รับส่วนแบ่งจากค่าบริการทางการแพทย์หรือ Docter Fee (DF.) อีกจำนวนหนึ่ง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยอ้างเหตุเกษียณอายุ 55 ปี ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ขณะที่โจทก์มีอายุ 62 ปี โดยจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไปแล้วจำนวน 10 เดือน ของอัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นเงิน 1,247,600 บาท แต่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คดีมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางรับมาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 อันเป็นการให้อำนาจของศาลแรงงานแต่เพียงผู้เดียวหาใช่ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะฟ้องเรียกร้องได้นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายที่ลูกจ้างได้รับ หาใช่เป็นการตัดสิทธิของลูกจ้างซึ่งได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่จะฟ้องเรียกร้องไม่ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแล้ว กรณีย่อมถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 และ 49 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลแรงงานได้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายคือ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง และอ้างความเป็นมาของการเลิกจ้างว่า ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของจำเลยได้รับค่าจ้างเดือนละ 124,760 บาท จำเลยมีหนังสือเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นแพทย์ทางด้านศัลยธรรมซึ่งเป็นตำแหน่งที่ด้อยกว่าเดิมมาก เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ และเมื่อโจทก์ร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและแรงงานจังหวัดชลบุรีว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่ครบถ้วน เป็นเหตุให้สำนักงานดังกล่าวสั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพิ่มเติม จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอคิดค่าเสียหายโดยคำนวณจากเงินเดือนที่เคยได้รับและค่าตรวจรักษาคนไข้ (DF.) เป็นเวลา 5 ปี ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน

Share