คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6110/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงได้สั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่า สมควรจะสืบพยานหรือไม่ มิใช่เป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27และคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมีเวลาที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึง 6 วันแต่มิได้โต้แย้งไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหัวหน้าวงแชร์ค้างชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าไม่ได้ค้างชำระเงินและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ในวันนัดพร้อม คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า”ได้มีการตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 689/2527 และโจทก์ไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย 50,000 บาทศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลย ข้อแรกที่จำเลยอ้างว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์พยานจำเลยในวันที่ 24 เมษายน 2528 กฎหมายกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายมีสิทธิคัดค้านคำสั่งศาลเรื่องผิดระเบียบในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 30 เมษายน 2528 ก่อนกำหนดระยะเวลา 8 วันที่จำเลยมีสิทธิคัดค้านได้ จำเลยจึงไม่ต้องคัดค้านคำสั่งนั้น เห็นว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ดังที่จำเลยอ้างนั้น เป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27รูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในอันที่จะวินิจฉัยว่า สมควรจะสืบพยานหลักฐานในคดีหรือไม่ มิได้เป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบอย่างใด จึงมิตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งนั้นก่อนที่จะมีคำพิพากษาถึง 6 วัน เป็นระยะเวลาเพียงพอที่จำเลยจะโต้แย้งคำสั่งได้ แต่จำเลยมิได้โต้แย้งไว้กรณีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share