คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2595/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) เมื่อจำเลยอุทธรณ์ในปัญหานี้ โดยขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษมาพร้อมกับอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยในปัญหาการกระทำความผิดของจำเลย แต่ไม่วินิจฉัยในปัญหาขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ โดยอ้างว่าขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากจำเลยมิได้อุทธรณ์ การใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยแต่เพียงอย่างเดียวอันจะต้องต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ต่อมาเมื่อจำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดและขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษอีก เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยปัญหาการกระทำความผิดแล้ว ในส่วนการใช้ดุลพินิจการลงโทษจำเลยซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวพันกัน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ลงแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงใด โดยไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 279, 317, 91
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหากระทำอนาจาร แต่ปฏิเสธข้อหากระทำชำเราและพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 กึ่งหนึ่ง ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่ออนาจาร จำคุก 3 ปี และฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุ ยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี แม้จำเลยกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยร้ายแรงไม่กลัวเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นภัยต่อสังคมอย่างมาก ดังนั้น หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยยิ่งกว่าให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจาร แก่เด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรคแรก ด้วย แต่การกระทำดังกล่าวเป็น กรรมเดียวกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาตน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้ เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติได้ว่า เด็กหญิง ส. ผู้เสียหายที่ 2 เป็นบุตรสาวของนาง ส. ผู้เสียหายที่ 1 และนาย ค. ขณะเกิดเหตุมีอายุ 14 ปีเศษ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองและนางสาว ว. เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าในวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 17 นาฬิกา นางสาว ว. ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียหายทั้งสองขับรถจักรยานยนต์มารับผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านเพื่อไปซื้อของที่ตลาด ภายหลังพบนาย ท. คนรักของนางสาว ว. นายทอมชวน นางสาว ว. กับผู้เสียหายที่ 2 ไปนั่งเล่นที่บ้าน โดยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนาย ท. ไปด้วยกัน เมื่อถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านไผ่ก็ได้พบจำเลยซึ่งเป็นเพื่อนของนาย ท. ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมา ทั้งนี้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่รู้จักจำเลยมาก่อน นาย ท. เรียกให้จำเลย จอดรถและบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยโดยอ้างว่ารถของนาย ท. มีกำลังไม่พอที่จะนั่งซ้อน 3 คน ผู้เสียหายที่ 2 จึงขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งขับตามรถของนาย ท. ไป แต่จำเลยขับตามไม่ทันผู้เสียหายที่ 2 จึงขอให้จำเลยไปส่งบ้าน จำเลยกลับขับพาไปที่กระท่อมร้างในไร่มันสำปะหลัง แล้วดึงมือ ผู้เสียหายที่ 2 พาขึ้นไปบนกระท่อมและเลิกเสื้อของผู้เสียหายที่ 2 ขึ้น แล้วจับนมของผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยถอดกางเกงของจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ออก แล้วใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 นานประมาณ 7 ถึง 8 นาที ผู้เสียหายรู้สึกเจ็บจึงผลักจำเลยออก เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ใส่เสื้อผ้าแล้วได้ออกให้จำเลยพาไปส่งบ้าน แต่จำเลยบอกว่ารถของจำเลยไม่มีไฟหน้ารถผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยจึงนอนพักที่กระท่อมดังกล่าวจนรุ่งเช้า จากนั้นจำเลยขับรถมาส่งผู้เสียหายที่ 2 ที่บ้านนาย ท. ผู้เสียหายที่ 2 ก็ได้เล่าเหตุการณ์ดังกล่าวให้นางสาว ว. ฟัง และ ได้เล่าให้ผู้เสียหายที่ 1 ฟังเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 1 จึงพาผู้เสียหายที่ 2 ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ ดำเนินคดี แก่จำเลย เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับและสมเหตุสมผล นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาว ว. และผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความสนับสนุนว่าในวันรุ่งขึ้น ผู้เสียหายที่ 2 ได้บอกคนทั้งสองว่าถูกจำเลยกระทำชำเราทั้งในทางนำสืบของจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยกระทำอนาจาร ผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการกอดจูบ ผู้เสียหายที่ 2 ในกระท่อมร้างที่เกิดเหตุ เชื่อได้ว่าจำเลยไม่อาจยับยั้งอารมณ์ ความใคร่ ในวัยที่กำลังกำลังคึกคะนองเช่นนั้นได้ จึงล่วงละเมิดทางเพศกับผู้เสียหายที่ 2 แม้ตามรายงานผลการตรวจชันสูตร บาดแผลของแพทย์ ปรากฏว่าแพทย์ตรวจไม่พบร่องรอยการกระทำชำเรา ก็หาเป็นพิรุธตามที่จำเลยฎีกาไม่ เนื่องจากแพทย์ได้ตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 2 หลังเกิดเหตุแล้วถึง 2 วัน อีกทั้ง ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จำเลยยัง ไม่สำเร็จความใคร่ จึงไม่หลั่งน้ำอสุจิออกมา อันเป็นเหตุให้แพทย์ตรวจไม่พบน้ำอสุจิหรือตัวเชื้ออสุจิในช่องคลอดของ ผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ก็เบิกความถึงประวัติส่วนตัวของตนเองว่าเคยเป็นนักกีฬาของโรงเรียนบ้านใหม่มาก่อนทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 มีความประพฤติสำส่อนทางเพศมาก่อน จึงเชื่อได้ตามข้อสันนิษฐานของ แพทย์ว่า เยื่อพรหมจารีของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีรอยฉีกเก่านั้นเกิดจากการเล่นกีฬาออกกำลังกายซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แพทย์จึงไม่อาจตรวจพบร่องรอยการกระทำชำเราภายในได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักแน่นแฟ้นรับฟังได้โดยปราศจาก ข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยพยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษ ให้แก่จำเลยหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรม ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) เมื่อจำเลยอุทธรณ์ในปัญหานี้ โดยขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษมาพร้อมกับอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยเฉพาะในปัญหาการกระทำความผิดของจำเลย แต่ไม่วินิจฉัยในปัญหาขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ โดยอ้างว่าขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 นั้น ไม่ถูกต้องเนื่องจากจำเลยมิได้อุทธรณ์การใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลย (ที่ถูก วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน) แต่เพียงอย่างเดียวอันจะต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ต่อมาเมื่อจำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดและขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษอีก เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยปัญหาการกระทำความผิดแล้ว ในส่วนการใช้ดุลพินิจการลงโทษจำเลยซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวพันกัน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษ ที่ลงแต่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงใดโดยไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษของจำเลยประมวลกฎหมายและวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้เป็นครั้งแรก โดยเป็นการกระทำที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ แต่การที่จำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายของการกระทำโดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง ส่อแสดงว่าจำเลยสำนึกผิดและปรารถนาที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีของชาติบ้านเมืองต่อไป ทั้งนี้ตามรายงานแสดง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาก็ระบุว่า จำเลยไม่มีความประพฤติเสียหายใด ๆ มาก่อน จึงเป็นการยืนยันว่า จำเลยไม่ได้มีความชั่วร้ายในกมลสันดานสามารถ แก้ไขพฤติกรรมได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยรวมแล้วถึง 6 ปี จึงเป็นการลงโทษที่หนักเกินไป สมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เบาลง และเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนและกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ จึงยังไม่เห็นสมควรที่จะเปลี่ยนโทษจำคุกไปฝึกอบรมแต่ ให้รอการลงโทษจำเลยไว้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารจำคุก 2 ปี 6 เดือน และฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 5 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 106 โดยให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาทุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

Share