แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ว่า เมื่อแผนได้รับการอนุมัติแล้ว ขอให้ไม่ฟ้องผู้ค้ำประกัน เมื่อพิจารณาประกอบคำชี้แจงและคำแก้อุทธรณ์ของผู้บริหารแผน ซึ่งยืนยันว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการขอร้องหรือขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้มิให้ฟ้องผู้ค้ำประกันในระหว่างระยะเวลาบริหารแผน มิใช่กำหนดห้ามฟ้องหรือจำกัดสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากผู้ค้ำประกัน ข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะเพียงการขอร้องเจ้าหนี้มิได้มีสภาพบังคับสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ต่อผู้ค้ำประกันตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งเพียงใด เจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธินั้นได้อย่างเต็มที่มิได้ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดในแผนแต่อย่างใด แผนจึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง
หนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 ที่ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการทุกราย มีการของดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ส่วนต้นเงินจะมีการแปลงหนี้เป็นทุน แผนจึงกำหนดให้เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (2) ประกอบกับมาตรา 90/42 ตรี แล้ว ส่วนที่แผนกำหนดแบ่งเงินพิเศษสำหรับสินเชื่อใหม่แก่สถาบันการเงิน 3 แห่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 4 เช่นกัน เนื่องจากสถาบันการเงินทั้งสามได้นำเงินที่สถาบันการเงินดังกล่าวได้รับจากโครงการที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ตนแล้วมาให้เป็นสินเชื่อใหม่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของลูกหนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนได้ก่อให้เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/62 หนี้ส่วนนี้ย่อมมีสถานะแตกต่างจากหนี้จำนวนอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและมีการกำหนดไว้ในแผน การที่แผนกำหนดให้มีการคืนหนี้ส่วนนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งสามรายก่อน จึงเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งนายวีระวัฒน์ ชลวณิช นายชูเกียรติ วิทยเตชะกุล นายสิทธิไชย โรจนดิษฐ์ นายประมวลชัย ทวีเศรษฐ์ และนายเฉลิมชัย กนกวิบูลย์ศรี ร่วมกันเป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๔ เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๖ (๒) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๖
ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ ๗๖ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน ๑๑๙,๕๐๒,๗๑๒.๓๐ บาท ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน แผนจัดให้ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ข้อ ๑.๒ ที่ระบุไว้ในหน้า ๓๔ ข้อ ฌ. ว่า เมื่อแผนได้รับอนุมัติแล้ว ห้ามมิให้ฟ้องร้องผู้ค้ำประกันได้แก่นายสุเอช ศิวาชัญ นายวีระวัฒน์ ชลวณิช และบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด ในระหว่างการดำเนินการตามแผน และให้ผู้ค้ำประกันข้างต้นรับผิดเฉพาะหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระในส่วนที่เกิดจากหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน แต่จะไม่ฟ้องร้องผู้ค้ำประกันตลอดระยะเวลาบริหารแผนนั้น เป็นการขัดต่อกฎหมายเรื่องความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๖๐ วรรคสอง ถือได้ว่าเป็นการกำจัดสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะไปเรียกร้องจากผู้ค้ำประกันในหนี้ส่วนที่เหลือจากที่ได้รับชำระหนี้ตามแผน และเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ไม่ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน จากแผนฟื้นฟูกิจการในเรื่องการคืนเงินในรูปการลดทุน มีการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มเดียวกันไม่เท่าเทียมกันตามมาตรา ๙๐/๕๘ (๒) ประกอบมาตรา ๙๐/๔๖ (๒) กล่าวคือ โครงการปัจจุบัน ในแผนฟื้นฟูกิจการระบุให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๒ และที่ ๔ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ได้รับชำระหนี้ก่อนบรรดาเจ้าหนี้อื่นในกลุ่มที่ ๔ ในอัตราร้อยละ ๗๐ ของกระแสเงินสดสุทธิของโครงการปัจจุบัน และให้เจ้าหนี้ทั้งสามรายข้างต้นได้รับชำระหนี้ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๓๐ ของกระแสเงินสดสุทธิของโครงการปัจจุบันตามสัดส่วนของมูลหนี้ ขณะที่บรรดาเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันได้รับชำระหนี้เฉพาะในส่วนร้อยละ ๓๐ ของกระแสเงินสดสุทธิของโครงการปัจจุบันตามสัดส่วนของมูลหนี้เท่านั้น ส่วนโครงการใหม่ ในแผนฟื้นฟูกิจการระบุให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้รับชำระหนี้ก่อนบรรดาเจ้าหนี้อื่นในกลุ่มที่ ๔ ในอัตราร้อยละ ๗๐ ของเงินจำนวนร้อยละ ๓๐ ร้อยละ ๒๕ หรือร้อยละ ๒๐ แล้วแต่กรณี ที่เหลือจากการแบ่งส่วนกำไรสุทธิของโครงการใหม่ให้แก่ผู้สนับสนุนทางการเงินแก่โครงการใหม่ และให้เจ้าหนี้ทั้งสามรายข้างต้นได้รับชำระหนี้ในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๓๐ ของเงินจำนวนร้อยละ ๓๐ ร้อยละ ๒๕ หรือร้อยละ ๒๐ แล้วแต่กรณี ตามสัดส่วนของมูลหนี้ ขณะที่บรรดาเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันได้รับชำระหนี้เฉพาะในส่วนร้อยละ ๓๐ ของเงินจำนวนร้อยละ ๓๐ ร้อยละ ๒๕ หรือร้อยละ ๒๐ แล้วแต่กรณี ตามสัดส่วนของมูลหนี้เท่านั้น แผนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๖๐ วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ชัดแจ้ง หากแผนระบุยกเว้นความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้แล้ว ข้อกำหนดดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการส่วนที่ ๘ ข้อ ๖ (ก) – (ง) แผนมิได้ระบุข้อความที่เป็นการปฏิบัติการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ แตกต่างกันแต่ประการใด ส่วนข้อ ฉ. แผนกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางรายในกลุ่มที่ ๔ แตกต่างจากเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกันนั้น หนี้ตามข้อ ฉ. เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๙๐/๔๒ มาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ และมาตรา ๙๐/๔๒ ตรี และเป็นเพียงกรณีที่แผนกำหนดแนวทางสำหรับหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเท่านั้น
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายในเรื่องความรับผิดของผู้ค้ำประกัน และไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ที่จะไปเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลือจากที่ได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจากผู้ค้ำประกัน เนื่องจากแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ระบุว่าเมื่อแผนได้รับอนุมัติแล้ว ขอร้องมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องผู้ค้ำประกัน ข้อความดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้มิให้ฟ้องร้องผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการห้ามฟ้องร้องแต่อย่างใด ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิด แผนกำหนดให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน รวมตลอดทั้งเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ด้วย เหตุที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่ม หนี้ส่วนที่ได้รับชำระก่อนนั้นคือเงินใหม่ ซึ่งเจ้าหนี้ทั้งสามรายได้รับโอนสิทธิการรับเงินจากลูกหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ทั้งสามรายสามารถยึดเงินดังกล่าวเพื่อนำไปตัดชำระหนี้ได้ แต่เจ้าหนี้ทั้งสามรายยังคงให้เงินแก่ลูกหนี้ในการดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทุกราย จึงถือว่าเจ้าหนี้ทั้งสามรายได้ให้เงินใหม่แก่ลูกหนี้ จึงมีสิทธิได้รับการคืนเงินก่อนในรูปการลดทุน
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายพิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการแรกว่า ข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการหน้าที่ ๓๔ ข้อ ฌ. เรื่อง การค้ำประกัน ที่ระบุว่า “(๑) เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้รับการอนุมัติ ขอให้ไม่ฟ้องร้องผู้ค้ำประกันได้แก่
(๒) เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้รับการอนุมัติ ผู้ค้ำประกันข้างต้นยังคงมีความรับผิดในมูลหนี้ดอกเบี้ยค้างชำระส่วนที่เกิดจากหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน แต่จะไม่ฟ้องร้องผู้ค้ำประกันตลอดระยะเวลาบริหารแผน เว้นแต่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ (๓)
” ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๖๐ วรรคสอง หรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๖๐ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ตามมาตรา ๙๐/๒๗” วรรคสองบัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย” โดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้นมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้นที่จะหลุดพ้นจากหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน แล้วมาผูกพันตามหนี้ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนบุคคลภายนอกซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๖๐ วรรคสอง อันได้แก่ บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรือผู้อยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ คำสั่งของศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลเหล่านั้นที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ความรับผิดของบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดอีกเช่นไร ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง กล่าวโดยเฉพาะในส่วนของผู้ค้ำประกัน เมื่อหนี้ที่ค้ำประกันมิได้ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙๘ ผู้ค้ำประกันก็ยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดต่อเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ยังมีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ได้เช่นเดิม ซึ่งแผนหน้า ๓๔ ข้อ ฌ. เรื่อง การค้ำประกัน ข้อ (๑) ถึง (๓) เมื่อพิจารณาประกอบกับคำชี้แจงและคำแก้อุทธรณ์ของผู้บริหารแผน ซึ่งผู้บริหารแผนยืนยันว่าข้อกำหนดในแผนดังกล่าวเป็นการขอร้องหรือขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้ มิให้ฟ้องผู้ค้ำประกันในระหว่างระยะเวลาบริหารแผน มิใช่กำหนดห้ามฟ้องหรือจำกัดสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจากผู้ค้ำประกัน กรณีจึงเห็นได้ว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะเพียงการขอร้องเจ้าหนี้ มิได้มีสภาพบังคับ สิทธิของเจ้าหนี้ที่มีอยู่ต่อผู้ค้ำประกันตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งเพียงใด เจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธินั้นได้อย่างเต็มที่ มิได้ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดในแผนแต่อย่างใด แผนจึงไม่ขัดต่อมาตรา ๙๐/๖๐ วรรคสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการต่อไปว่า ข้อเสนอชำระหนี้ตามแผนกำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ตามมาตรา ๙๐/๕๘ (๒) ประกอบมาตรา ๙๐/๔๒ ตรี หรือไม่ ผู้คัดค้านไม่ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับเจ้าหนี้อื่นในกลุ่มเดียวกัน โดยแผนได้ระบุให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ เหมือนกันได้รับชำระหนี้ก่อนบรรดาเจ้าหนี้อื่นในกลุ่มเดียวกัน ตามแผนส่วนที่ ๘ ข้อ ๖ ง. และ ฉ. นั้น เห็นว่า ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ส่วนที่ ๘ ข้อ ๖ ก. และ ข. กำหนดไว้ว่า “การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน
หนี้เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้แก่ เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ กลุ่มที่ ๒ และกลุ่มที่ ๔ ขอเสนอปรับโครงสร้างหนี้ดังนี้
ก. การของดดอกเบี้ยค้างชำระทั้งจำนวนประมาณ ๓๔๐.๒ ล้านบาท เพื่อเป็นการลดหนี้ และชดเชยขาดทุนสะสม เพื่อให้บริษัทมีโครงสร้างด้านหนี้และทุนที่เข้มแข็งขึ้น
ข. การแปลงหนี้เป็นทุน ขอแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน สำหรับหนี้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ กลุ่มที่ ๒ และกลุ่มที่ ๔ คือประมาณ ๑,๐๙๑.๕ ล้านบาท ที่ราคา ๑๐ บาทต่อหุ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนของทุนของบริษัทกลับเป็นบวกอีกครั้งหนึ่งเมื่อแผนได้รับการอนุมัติ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบริษัทในการประมูลงานในอนาคต
เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ กลุ่มที่ ๒ และกลุ่มที่ ๔ ก็จะเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของบริษัท” เช่นนี้ หนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ที่ขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการทุกราย จะมีการของดดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมด ส่วนต้นเงินจะมีการแปลงหนี้ดังกล่าวเป็นทุน โดยออกหุ้นชำระหนี้ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท เช่นนี้ แผนจึงกำหนดให้เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ (๒) ประกอบมาตรา ๙๐/๔๒ ตรี แล้ว ส่วนที่แผนกำหนดแบ่งเงินพิเศษสำหรับสินเชื่อใหม่แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นั้น เนื่องจากสถาบันการเงินทั้งสามดังกล่าวได้นำเงินที่สถาบันการเงินดังกล่าวได้รับจากโครงการที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ตนแล้วมาให้เป็นสินเชื่อใหม่เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของลูกหนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนได้ก่อให้เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ในอันที่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนจะได้นำเงินไปดำเนินกิจการตามแผน ส่งผลให้กิจการลูกหนี้สามารถแสวงหารายได้ นับว่าจะได้เป็นประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการตามแผน หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๖๒ หนี้ส่วนนี้ย่อมมีสถานะแตกต่างจากหนี้จำนวนอื่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและมีการกำหนดไว้ในแผน การที่แผนกำหนดให้มีการคืนหนี้ส่วนนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งสามรายก่อน ข้อกำหนดของแผนในส่วนนี้จึงเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลล้มละลายกลางยังไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน เป็นการไม่ชอบด้วยข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๒๔ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง และการอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐ บาท ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลชั้นนี้เกินมา ๘๐๐ บาท
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินมา ๘๐๐ บาท แก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นให้ความเห็นชอบด้วยแผนในศาลล้มละลายกลางและในชั้นนี้นอกจากที่ศาลฎีกาสั่งคืนให้เป็นพับ.