แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความในสัญญาข้อ 8 มีว่า เพื่อเป็นหลักประกัน ผู้ค้ำประกันยอมมอบสมุดคู่ฝากประจำตามข้อ 6 และข้อ 7 ให้ธนาคารยึดถือไว้เป็นหลักประกันตลอดไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ครบถ้วน มีความหมายว่าธนาคารจำเลยเพียงยึดถือสมุดคู่ฝากประจำไว้เป็นประกัน ไม่ให้โจทก์ผู้ค้ำประกันถอนเงินโดยผิดเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 7 เมื่อสัญญาข้อ 7 ระบุให้โจทก์ถอนเงินฝากได้ต่อเมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้เป็นหนี้ธนาคารลดลงเหลือไม่เกินราคาของหลักทรัพย์ที่ธนาคารประเมิน ซึ่งข้อเท็จจริงยุติว่าหนี้ของผู้กู้ลดลงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจกันเงินฝากของโจทก์ไว้จนกว่าลูกหนี้ของจำเลยชำระหนี้หมดสิ้น
จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่ามีพยานเอกสารอะไรบ้างที่จะต้องนำมาสืบเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน และจำเลยสามารถยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้ การที่จำเลยต้องให้พนักงานของจำเลยค้นหาเอกสารหลายครั้งจึงพบนั้น ย่อมถือเป็นความบกพร่องล่าช้าของพนักงานจำเลย อันเป็นเรื่องภายในของจำเลยเอง จึงไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม และตามคำให้การของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีประเด็นอันเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวอันจะถือว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีซึ่งจะต้องนำสืบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวของจำเลยได้ตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงินโครงการเงินกู้ที่ลูกค้าของโจทก์ทำสัญญากู้เงินกับจำเลยทั้งโครงการโดยโจทก์ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ของโจทก์ที่มีต่อจำเลย โจทก์สัญญาว่าจะฝากเงินประเภทฝากประจำกับจำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของผู้กู้ทุกรายตามที่จำเลยกำหนดจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของต้นเงินกู้ที่ผู้กู้แต่ละรายกู้เงินไปจากจำเลย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และโจทก์สัญญาว่าจะฝากเงินประเภทฝากประจำกับจำเลยเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้กู้แต่ละรายกู้เกินราคาประเมินของหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และเมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้เป็นหนี้จำเลยลดลงเหลือไม่เกินราคาประเมินของหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันโจทก์มีสิทธิถอนเงินฝากคืนได้ในการนี้โจทก์ฝากเงินประเภทฝากประจำไว้กับจำเลยโดยมอบสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำบัญชีดังกล่าวไว้กับจำเลยด้วย ต่อมาโจทก์ขอถอนเงินฝากประจำทั้งสองบัญชีของโจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยคืนเงินฝากให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินฝากส่วนที่เหลือ จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 981,830.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ของต้นเงิน861,834.62 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญาค้ำประกันทั้งโครงการที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยนั้นมีวัตถุประสงค์ต้องการให้จำเลยรับเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวให้แก่ผู้ซื้อที่ดินและอาคารในโครงการของโจทก์ โดยโจทก์ยินยอมผูกพันในฐานะผู้ค้ำประกันลูกค้าในโครงการของโจทก์ไว้แก่จำเลย จนกว่าจำเลยจะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดคืนจากผู้กู้ แม้ตามสัญญาค้ำประกันข้อ 7 จะให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะถอนเงินฝากคืนได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิของจำเลยที่จะพิจารณาให้โจทก์ถอนเงินฝากออกจากบัญชีหรือไม่ก็ได้ การที่จำเลยไม่ให้โจทก์ถอนเงินฝากจึงเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันทั้งโครงการที่โจทก์ทำให้ไว้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อเรียกเงินฝากพร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในเบื้องแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานตามคำร้องลงวันที่ 16 มิถุนายน2542 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเสร็จ และสืบพยานจำเลยโดยจำเลยนำผู้รับมอบอำนาจของจำเลยเข้าเบิกความได้ 1 ปาก จำเลยขอเลื่อนคดี ต่อมาก่อนถึงวันนัดที่เลื่อนมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 16 มิถุนายน 2542 ว่า พยานที่จำเลยขอระบุเพิ่มเติม เป็นพยานเอกสารซึ่งมีอายุเกินกว่า 10 ปี จำเลยได้แยกเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่เก็บเอกสารของจำเลย ทนายจำเลยขอให้พนักงานของจำเลยค้นหาหลายครั้งจึงค้นพบ ประกอบกับพนักงานของจำเลยผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเปลี่ยนไปหลายคนเมื่อค้นพบเอกสารจึงทราบได้ว่าพนักงานของจำเลยคนใดเป็นผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบเอกสารนั้น ทำให้จำเลยไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานได้ทัน พยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวมีความสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาอันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีเห็นว่า ตามคำร้องแสดงแจ้งชัดว่าจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่ามีพยานเอกสารอะไรบ้างที่จำเลยต้องนำมาสืบเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน และจำเลยสามารถยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ที่จำเลยต้องให้พนักงานของจำเลยค้นหาเอกสารดังกล่าวหลายครั้งจึงพบนั้น ย่อมถือเป็นความบกพร่องล่าช้าของพนักงานจำเลย อันเป็นเรื่องภายในของจำเลยเอง ดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยตามคำร้องจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม และตามคำให้การของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การถึงการหักเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้แทนลูกหนี้ไว้เลยเช่นนี้ ย่อมไม่อาจจะถือว่าพยานบุคคลและพยานเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.31 อันเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการหักเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ในคดีนี้ เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งจำเป็นจะต้องนำสืบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ดังที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยได้ตามกฎหมาย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมและคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในปัญหานี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิถอนเงินฝากในบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้กับจำเลยตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรชื่อโครงการหมู่บ้านอมรพันธุ์นคร จำเลยรับเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวให้แก่ผู้ซื้อที่ดินและอาคารในโครงการของโจทก์ โจทก์ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันทั้งโครงการไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวโดยยอมรับผิดร่วมกับผู้กู้อย่างลูกหนี้ร่วมไม่จำกัดวงเงิน มีข้อตกลง2 ประการคือ ประการแรกโจทก์จะฝากเงินประเภทฝากประจำกับจำเลยเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี เป็นจำนวนเงินในอัตราร้อยละ 5 ของต้นเงินกู้ที่ผู้กู้แต่ละรายกู้ไปจากจำเลยและประการที่ 2 โจทก์จะฝากเงินประเภทฝากประจำเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้กู้แต่ละรายกู้จากจำเลยเกินราคาประเมินของหลักทรัพย์ที่ผู้กู้นำมาเป็นประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันทั้งโครงการ เอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 และข้อ 7 ตามลำดับ โจทก์ได้ขอถอนคืนเงินฝากดังกล่าว และจำเลยคืนเงินฝากให้แก่โจทก์แล้วบางส่วน คงเหลือเงินฝากตามสัญญาข้อ 6 บัญชีเงินฝากประจำเลขที่ จ.5884 เป็นเงิน 158,292.68 บาท และเหลือเงินฝากตามสัญญา ข้อ 7 บัญชีเงินฝากประจำเลขที่ จ.5885 เป็นเงิน 703,541.94 บาทเห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ต้องฝากเงินประเภทฝากประจำต่อจำเลยเป็น 2 บัญชี คือ บัญชีเงินฝากในข้อ 6 กับบัญชีเงินฝากในข้อ 7 สำหรับเงินฝากในข้อ 6 ไม่มีข้อความระบุให้โจทก์ถอนคืนได้หรือไม่ อย่างไร ส่วนเงินฝากในข้อ 7 กลับมีข้อตกลงระบุให้โจทก์ถอนคืนเงินฝากได้เมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้เป็นหนี้ธนาคารลดลงเหลือไม่เกินราคาของหลักทรัพย์ที่ธนาคารประเมิน เมื่อตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ได้แยกบัญชีเงินฝากทั้งสองไว้เป็นที่เด่นชัดแล้ว เช่นนี้ การฝากและถอนคืนเงินฝากตามบัญชีดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในแต่ละบัญชี ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่อาจถอนคืนเงินฝากในข้อ 6 โดยอาศัยเงื่อนไขในเงินฝาก ข้อ 7 สำหรับข้อตกลงให้โจทก์ถอนคืนได้เฉพาะเงินฝากตามบัญชีเงินฝากในสัญญาข้อ 7 นั้นได้ระบุให้โจทก์ถอนคืนไปได้ต่อเมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้แต่ละรายเป็นหนี้ธนาคารลดลงเหลือไม่เกินราคาของทรัพย์ที่ธนาคารประเมินเป็นหลักประกัน ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนเงินฝากตามสัญญาข้อ 7 ได้ตามเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งเงินฝากตามสัญญาข้อ 7 นี้ โจทก์มีนายกมลโลจน์กุญชร ณ อยุธยา เป็นพยานเบิกความว่าปัจจุบันมีลูกค้าของโจทก์ที่ทำสัญญากู้เงินและค้างชำระหนี้ต่อจำเลยอยู่เพียง 5 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,322,016.36 บาท ส่วนราคาประเมินที่ดินทั้งแปลงของลูกค้าดังกล่าวที่จดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยไม่รวมราคาสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน เป็นเงินทั้งสิ้น 2,620,000 บาท โดยฝ่ายจำเลยไม่มีพยานมานำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น จึงฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่าจำนวนหนี้ของลูกหนี้ที่กู้เงินจากจำเลยได้ลดลงเหลือไม่เกินราคาของทรัพย์ที่ลูกหนี้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันไว้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินฝากประจำตามบัญชีเงินฝากเลขที่จ.5885 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 7 ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่าตามสัญญาข้อ 8 ระบุให้จำเลยสามารถกันเงินฝากประจำของโจทก์ทั้งสองบัญชีไว้จนกว่าจำเลยจะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ครบถ้วนนั้น เห็นว่า ความในสัญญาข้อ 8 มีว่าเพื่อเป็นหลักประกันตามสัญญานี้ผู้ค้ำประกันยอมมอบสมุดคู่ฝากประจำตามข้อ 6 และข้อ 7 ให้ธนาคารยึดถือไว้เป็นหลักประกันตลอดไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ครบถ้วนเท่านั้น ซึ่งนายธนู ทองงาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมสินเชื่อของจำเลยก็เบิกความว่า ต้องเก็บสมุดคู่ฝากไว้ในฐานะหลักประกันและป้องกันไม่ให้โจทก์ถอนเงินฝากดังกล่าวออกจากบัญชี จึงแสดงความหมายของความในสัญญาข้อ 8 ชัดแจ้งว่า จำเลยเพียงยึดถือสมุดคู่ฝากประจำไว้เป็นประกันไม่ให้โจทก์ถอนเงินฝากดังกล่าวโดยผิดเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 7 เท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจกันเงินฝากตามบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ไว้จนกว่าลูกหนี้ของจำเลยชำระหนี้หมดสิ้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินฝากตามบัญชีเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่จ.5885 จำนวนเงิน 703,541.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่1 สิงหาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์