แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้มีการดำเนินการจดทะเบียนเสร็จสิ้นแล้ว การที่โจทก์ที่ 1 ผิดข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนจำน่ายผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของโจทก์ที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องว่ากล่าวเอาจากอีกฝ่ายหนึ่งต่อไปฐานะที่เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงนั้น ไม่มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงเรื่องการเข้าร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเสียไป
โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของตนเองทั้งหมด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฟังว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ร่วมกันเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาท ย่อมพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) และไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะโอนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายชุด จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องโอนเครื่องหมายการค้าส่วนที่เหลือด้วย ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทำจากธัญพืชประเภทชงสำหรับมนุษย์ดื่มตรา “นิวตริเบล็นด์” (NUTRI BLEND) ไม่มีคำแปล ต่อมาโจทก์มอบให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเครื่องหมายกาค้า แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันฉ้อฉลโจทก์ โดยมอบให้จำเลยที่ 3 ไปดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “นูทริมิว” (NUTRI MUNE) ไม่มีความหมาย ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” เครื่องหมายการค้า “นูทริมิว” จะต้องตกเป็นสิทธิของโจทก์ด้วยเนื่องจากเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” แต่จำเลยทั้งสามปิดบังความจริงไว้ เมื่อโจทก์ทราบ โจทก์ได้เจรจากับจำเลยทั้งสามจำเลยทั้งสามยินยอมทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 ให้โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิร่วม แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “นิวเตริเบล็นด์” โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบดีว่าเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” เป็นสิทธิของโจทก์แต่ผู้เดียว หรือมิฉะนั้นก็เป็นเจ้าของสิทธิร่วมกับจำเลยที่ 1 การบอกเลิกของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีหนังสือถึงโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้ไปจดทะเบียนรับโอนและโอนเครื่องหมายการค้า “นูทริมิว” ตามคำขอเลขที่ 437187, 437188 และ 437189 ซึ่งเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย นอกจากนี้ จำเลยทั้งสามได้แพร่กระจายข่าวการยกเลิกการใช้เครื่องหมายการค้าไปยังลูกค้าและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” ตกต่ำลงมากทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 30,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 358909 ทะเบียนเลขที่ ค.82475 คำขอเลขที่ 365222 ทะเบียนเลขที่ ค.112309 และคำขอเลขที่ 365223 ทะเบียนเลขที่ บ.8370 รวมทั้งเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 437187 ทะเบียนเลขที่ ค.139240 และคำขอเลขที่ 437189 ทะเบียนเลขที่ บ.13874 ให้เป็นสิทธิของโจทก์แต่ผู้เดียว ห้ามจำเลยทั้งสามยุ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 30,000,000 บาท และจากค่าเสียหายวันละ 200,000 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเสริมประเภทธัญพืช ต่อมานายสมชาย บุญชื่น และนายมานพ วัฒนวงศ์วิบูลย์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ ได้เข้าเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 มีการประชุมวางแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ “นิวตริ-1000”, “นิวตริ-2000” และ “นิวตวิ-3000” และได้มีมติให้เติมคำว่า “BLEND” โดยใช้ภาษาไทยว่า “เบล็นด์” ต่อท้ายคำว่า “นิวตริ” จึงเกิดเป็นเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” (NUTRI BLEND) มีการมอบหมายให้นางสาวชลิตา หน่อสกูล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ออกแบบเครื่องหมายการค้า และให้จำเลยที่ 3 ไปดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ในนามของจำเลยที่ 1 ขณะนั้นนายมานพและนางสาวชลิตายังเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์เพิ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2541 จึงเป็นไปไม่ได้ที่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายกาค้าเป็นชุดตามคำขอเลขที่ 365222, 365223, 437187, 437188 และ 437189 ตามลำดับ โดยใช้คำหลักในเครื่องหมายการค้าว่า “NUTRI” จำเลยที่ 1 มอบให้บริษัทแพนสยามฟู้ดโปรดักส์ จำกัด เป็นผู้บรรจุสินค้าอาหารเสริมให้ จากนั้นจำเลยที่ 2 ร่วมกับนายมานพและนายสมชายประชุมจัดตั้งโจทก์ เพื่อเป็นบริษัทจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” โดยจำหน่ายเฉพาะผู้บริโภคในประเทศไทยเท่านั้น สำหรับการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีบริษัทแมคโครฟู้ดเทค จำกัด ซึ่งมีกรรมการเป็นชุดเดียวกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นภายหลังจำเลยที่ 2 กับนายมานพและนายสมชายและตกลงแยกบริษัทไปบริหารกันเอง โดยจำเลยที่ 2 และนายสมชายลาออกจากการเป็นกรรมการโจทก์ ส่วนนายมานพลาออกจากการเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 แลบริษัทแมคโครฟู้ดเทค จำกัด โจทก์เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” เท่านั้น เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.112309 คำขอเลขที่ 365222 และทะเบียนเลขที่ บ.8370 คำขอเลขที่ 365223 เป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนเป็นชุด หลังจากจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค.82475 จึงเป็นไปไม่ได้ที่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเป็นสิทธิของโจทก์ ขณะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.82475 เลขที่ ค.112309 และเลขที่ บ.8370 นายมานพและนางสาวชลิตาต่างเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 การกระทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” ขอนายมานพและนางสาวชลิตาจึงต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์และธุรกิจของจำเลยที่ 1 และเครื่องหมายการค้า “นูทริมิว” จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นชุดก่อนมีการจัดตั้งโจทก์ โจทก์เคยขอมีส่วนร่วมในเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ที่จดทะเบียนไว้ โดยโจทก์จะทำการตลาดสินค้าเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลยที่ 1 จึงตกลงโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 358909 ทะเบียนเลขที่ ค.82475 คำขอเลขที่ 365222 ทะเบียนเลขที่ ค.112309 และคำขอเลขที่ 365223 ทะเบียนเลขที่ บ.8370 ให้โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมกัน ต่อมาจำเลยที่ 2 สืบทราบว่า โจทก์ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ของจำเลยที่ 1 โดยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อันเป็นการลวงขายให้ประชาชนเข้าใจผิด นอกจากนี้โจทก์ยังได้ใช้ทะเบียนอาหารเลขที่ ผด.45/2541 ซึ่งเป็นเอกสารใบสำคัญขึ้นทะเบียนตำรับอาหารที่บริษัทแพนสยามฟู้ดโปรดักส์ จำกัด ต้องบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารเสริมภายในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้นด้วย จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนสิทธิให้โจทก์เป็นเจ้าของร่วมในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ โจทก์ไม่เคยได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายวันละ 200,000 บาท เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์สำนวนหลังฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุด โดยใช้คำหลักในเครื่องหมายการค้าว่า “NUTRI” บริษัทแพนสยามฟู้ดโปรดักส์ จำกัด เป็นผู้บรรจุสินค้าอาหารเสริมให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายปลีกผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น บริษัทแมคโครฟู้ดเทค จำกัด ซึ่งมีกรรมการเป็นชุดเดียวกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นเป็นผู้จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศต่อมากรรมการบริษัทได้ตกลงแยกบริษัทไปบริหารกันเอง จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” ของโจทก์ภายหลังจำเลยที่ 1 สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวลดลงจนไม่ได้สั่งซื้อสินค้าอีก จากการตรวจสอบทราบว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันผลิตอาหารเสริมธัญพืชและวางจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ของโจทก์ โดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นการลวงขายให้ประชาชนหลงผิดในสินค้าว่าเป็นของโจทก์นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้เปลี่ยนชื่อนิตยสารเป็น วารสารไบโอติค โจทก์เคยทำบันทึกตกลงจะให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าร่วมกับโจทก์ แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยที่ 1 ต่อกองบังคับการสืบสวนคดีเศรษฐกิจ โจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 4 ให้ไปโอนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 437187, 437188 และ 437189 อ้างว่าโจทก์ได้ขอโอนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 เนื่องจากโจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายเป็นชุด แต่โจทก์ไม่ดำเนินการโอนให้ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์พบว่าการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 ของจำเลยที่ 4 เนื่องมาจากความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่แสดงข้อมูลว่า เครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 จดทะเบียนเครื่องหมายชุดกับคำขอเลขที่ 437187, 437188 และ 437189 ซึ่งการโอนจะต้องเป็นชุดตามกฎหมาย หลังจากจำเลยที่ 1 ได้มีชื่อร่วมในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันจดทะเบียนตำรับอาหารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเลขที่ 10-1-04741-1-0007 และผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “นิวตริเบล็นด์-1000” โดยใช้เครื่องหมายการค้าเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่ต่างกันตรงเลขที่และใบอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการร่วมกันละเมิดเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 72,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวพร้อมค่าเสียหายเดือนละ 6,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 และให้จำเลยที่ 4 เพิกถอนการจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนให้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 เสียจากทะเบียนเครื่องหมายการค้าร่วม
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตฟ้องคดีซ้อนกับคดีอื่น และเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นส่วนตัว จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” เป็นของโจทก์ ต่อมาโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “นูทริมิว” ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายกาค้า “นิวตริเบล็นด์” นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เนื่องจากเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ดังนั้น เครื่องหมายการค้า “นูทริมิว” จึงต้องตกเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสามด้วยเช่นกัน แต่โจทก์ปิดบังความจริงเพื่อแสวงหาประโยชน์จากจำเลยทั้งสาม และไม่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์จดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าจำพวก 30, 31, และ 42 ตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 ให้จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีหนังสือถึงจำเลยทั้งสามและโจทก์ให้ไปจดทะเบียนรับโอนและโอนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 437187, 437188 และ 437189 ซึ่งก็คือเครื่องหมายการค้าชุดกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 แต่โจทก์เพิกเฉย เป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยทั้งสาม ทำให้จำเลยทั้งสามได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากโจทก์เพราะโจทก์ขึ้นราคาค่าจ้างในการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ และโจทก์ยังโฆษณาใส่ความจำเลยที่ 1 ว่าผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” ปลอม ซึ่งเป็นความเท็จจำเลยที่ 1 จึงได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์เป็นฝ่ายบอกเลิกไม่ผลิตสินค้าให้จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามไม่ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้ลวงขายสินค้าให้ประชาชนหลงผิดเพราะจำเลยที่ 1 มีสิทธิร่วมในเครื่องหมายการค้าตรา “นิวตริเบล็นด์” ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาก็รับรองตำรับอาหารเสริมของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยให้ตรา อย. คือ ผ.ด.45/2541 โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้ตรา “นิวตริเบล็นด์” ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2543 การออกวารสารของจำเลยที่ 1 เป็นสิทธิโดยชอบของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องปกติวิสัยทางการค้าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด โจทก์มีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าให้จำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้จำเลยที่ 4 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ครบชุดก็เป็นการจดทะเบียนที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 เลียนเครื่องหมายการค้า ปลอมปนผลิตภัณฑ์ และโจทก์ไม่โอนเครื่องหมายชุดให้จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์จดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าจำพวก 30, 31 และ 42 ตามคำขอเลขที่ 358909 ทะเบียนเลขที่ ค.82475 คำขอเลขที่ 365222 ทะเบียนเลขที่ ค.112309 และคำขอเลขที่ 365223 ทะเบียนเลขที่ บ.8370 รวมทั้งเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 437187 ทะเบียนเลขที่ ค.138695 คำขอเลขที่ 437188 ทะเบียนเลขที่ ค.139240 และคำขอเลขที่ 437189 ทะเบียนเลขที่ ป.13874 ให้เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับเครื่อง-หมายการค้าดังกล่าว หากบังคับไม่ได้ให้โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิผลิตและจำหน่ายสินค้าตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 ในประเทศไทยแต่ผู้เดียว ห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับสิทธิในการผลิตและจำหน่ายสินค้าดังกล่าวและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสามวันละ 1,000,000 บาท คิดเป็นเดือนละ 30,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนวันละ 1,000,000 บาท คิดเป็นเดือนละ 30,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 4 ให้การว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้องจริง และเป็นเครื่องหมายชุดตามที่โจทก์ได้แสดงเจตนาไว้ จำเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ไม่ได้จงใจให้เกิดความผิดพลาดหรือจงใจฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด เป็นการดำเนินการโดยสุจริตและทำตามความประสงค์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ทุกประการ แต่เนื่องจากระบบฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 4 มีข้อบกพร่อง จึงไม่สามารถค้นพบว่า เครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 437187, 437188 และ 437189 เป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าอื่น จำเลยที่ 4 เชื่อโดยสุจริตตามคำขอโอนว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่เป็นเครื่องหมายชุดมีเพียง 3 เครื่องหมาย จึงดำเนินการโอนตามคำขอดังกล่าว เมื่อภายหลังตรวจพบว่ามีข้อผิดพลาด นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้แจ้งให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ดำเนินการแล้วแต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยที่ 4 ไม่ได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50 เพราะโจทก์เองมีส่วนบกพร่องด้วย จำเลยที่ 4 ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” ของโจทก์ มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “นิวติเบล็นด์” ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ขณะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยที่ 2 และนางสาวชลิตา หน่อสกูล มีฐานะเป็นพนักงานของโจทก์ การกระทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ เครื่องหมายการค้า “นูทริมิว” เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เพราะโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายชุดก่อนมีการจัดตั้งจำเลยที่ 1 โจทก์เคยตกลงจะโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน แต่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” ลดลงจนไม่สั่งซื้ออีกเลย เพราะจำเลยที่ 1 ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในเครื่องหมายการค้าได้
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้เรียกโจทก์สำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 1 ให้เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 2 ให้เรียกจำเลยที่ 3 ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 3 ให้เรียกจำเลยที่ 4 ในสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 4 ให้เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังเป็นจำเลยที่ 1 ให้เรียกจำเลยที่ 2 สำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 2 และให้เรียกจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 3
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 437189 (ที่ถูก 437187) ทะเบียนเลขที่ ค.138695 คำขอเลขที่ 437188 ทะเบียนเลขที่ ค.139240 และคำขอเลขที่ 437189 ทะเบียนเลขที่ บ.13874 ให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกันกับจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ทั้งสี่คนละ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตอาหารเสริมเครื่องดื่มธัญพืชที่ใช้เครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” มีบริษัทแมคโครฟู้ดเทค จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ส่วนโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จำหน่ายในประเทศไทย เดิมกรรมการของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และบริษัทแมคโครฟู้ดเทค จำกัด เป็นบุคคลชุดเดียวกัน คือ โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 และนายสมชาย บุญชื่น บุคคลทั้งสามได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 มีการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดและเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายชุดอีกตามคำขอเลขที่ 437187, 37188 และ 437189 โดยเป็นเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 เมื่อโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 และนายสมชายตกลงแยกกันบริหารธุรกิจ โจทก์ที่ 2 ได้ออกจากการเป็นกรรมการจำเลยที่ 1 และบริษัทแมคโครฟู้ดเทค จำกัด ส่วนจำเลยที่ 2 และนายสมชายออกจากการเป็นกรรมการโจทก์ที่ 1 ภายหลังโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2544 โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” และโจทก์ที่ 1 มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” แต่ผู้เดียวในประเทศไทยหากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะใช้เครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์”เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยจะต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ที่ 1 เสียก่อน และได้มีการทำสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 มีสิทธิร่วมกันในเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 ต่อมาโจทก์ที่ 1 หยุดสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทแมคโครฟู้เทค จำกัด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามประการแรกว่าบันทึกข้อตกลงเรื่องเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ลงวันที่ 27 เมษายน 2544 ยังคงมีผลใช้บังคับหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาท โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 บันทึกข้อตกลงจึงไม่มีผลใช้บังคับ และจำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงดังกล่าวเพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 รับเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “นิวตริเบล็นด์” ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งแล้วว่าต้องการยกเลิกการให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.9 เห็นว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ที่ 1 มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้มีการดำเนินการจดทะเบียนเสร็จสิ้นแล้วตามทะเบียนเลขที่ ค.112309 เอกสารหมาย จ.10 และไม่มีประเด็นเรื่องที่ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอีกต่อไปหรือไม่ เพราะจำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งในความเป็นโมฆะ หรือไม่สมบูรณ์ของบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยทั้งสามเพียงโต้แย้งในอุทธรณ์ในทำนองว่า บันทึกข้อตกลงไม่มีผลใช้บังคับ เพราะจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 มีข้อตกลงแยกต่างหากเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นการอ้างถึงข้อตกลงที่แยกต่างหากจากบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.9 และถ้าหากมีข้อตกลงที่แยกต่างหากจากกันจริงตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสามแล้ว ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามจะต้องว่ากล่าวเอาจากอีกฝ่ายหนึ่งต่อไปในฐานะที่เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงนั้น แต่จะให้มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงเรื่องการเข้าร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเสียไปหาได้ไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามประการที่สองมีว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 ชอบหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในทำนองว่า เมื่อคดีเป็นอันรับฟังว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ที่ 1 ก็ควรจะยุติแล้ว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าร่วมกันจึงไม่ถูกต้องตามประเด็นข้อพิพาท และพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นของตนเองทั้งหมด แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและกาค้าระหว่างประเทศกลาง ฟังว่าโจทก์ที่ 1 ร่วมกันเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2) และไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด สำหรับข้อที่ว่าเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” เป็นของโจทก์ที่ 1 หรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ฉบับลงวันที่ 27 เมษายน 2544 ใช้บังคับได้ และข้อตกลงนั้นให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” เป็นของโจทก์ที่ 1 หรือไม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามประการที่สามมีว่า โจทก์ที่ 1 เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยทั้งสามได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อคดีนี้รับฟังว่ามีการจดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวถูกต้องแล้ว โดยบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.9 ระบุเงื่อนไขว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ประกอบการค้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เท่ากับว่า โจทก์ที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” และเป็นผู้เดียวที่มีสิทธิจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศไทย ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า “นิวตริเบล็นด์” ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกัน หรือการเปลี่ยนชื่อวารสารที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้านั้น จึงไม่พอฟ้งว่าจะเป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า อันจะเป็นการลวงขายและไม่อาจถือว่าเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ ทั้งข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ก็ยังไม่พอรับฟังว่า จำเลยทั้งสามได้รับความเสียหายจากการระทำดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้พังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามประการที่สี่มีว่า โจทก์ที่ 4 โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และโจทก์ที่ 4 ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทอย่างไร เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.9 มีผลใช้บังคับได้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 358909, 365222 และ 365223 จึงกระทำโดยถูกต้อง การที่โจทก์ที่ 4 จดทะเบียนโอนเครื่องหมายกาค้าตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 กรณีไม่จำต้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น และเมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.9 แล้ว แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะให้มีการโอนเครื่องหมายการค้าจริง ประกอบกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 437187, 437188 และ 437189 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องโอนเครื่องหมายการค้าส่วนที่เหลือด้วย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.