คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์กระบะ ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์รับประกันวินาศภัยและเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ ทำให้สินค้าของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ต่อจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องอีกว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากใคร ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2541 เวลาประมาณ 12.30 นาฬิกา นายชูศักดิ์ ใจหาญ ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 6864 นครราชสีมา ของโจทก์ บรรทุกสินค้าเครื่องดื่ม จำนวน 2,700 ถาด แล่นมาตามถนนเจนจบทิศ มุ่งหน้าไปทางกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ เพื่อส่งสินค้าที่จังหวัดร้อยเอ็ดโดยนายชูศักดิ์ขับรถในช่องเดินรถของตนด้วยความระมัดระวังเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุเป็นเวลาเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล่นสวนทางมาด้วยความประมาท จำเลยที่ 1 หักพวงมาลัยกลับทำให้รถแล่นไปทางขวาไปในช่องเดินรถของรถยนต์ของโจทก์ เป็นเหตุให้ด้านข้างรถยนต์กระบะเฉี่ยวชนกับด้านข้างรถยนต์บรรทุกอย่างแรง นายชูศักดิ์ได้หักหลบเพื่อไม่ให้เกิดการชนกัน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกเสียหลักตกลงข้างทางพลิกตะแคงได้รับความเสียหายเป็นเงิน 236,250 บาท หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าเป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 และได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 400 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กระทำละเมิด จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม จึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 253,726 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 236,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 3 ได้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนภ – 9438 นครปฐม ไว้จากใคร อันจะพอให้จำเลยที่ 3 เข้าใจข้อหาได้เพียงพอ และหลงข้อต่อสู้ คำฟ้องโจทก์ในส่วนที่บรรยายค่าเสียหายกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ขัดกันไม่ชัดแจ้ง ทำให้จำเลยที่ 3 ไม่อาจเข้าใจได้ว่าต้องรับผิดเป็นจำนวนเท่าใด ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดตามฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 6864 นครราชสีมา วันเกิดเหตุ นายชูศักดิ์ ใจหาญ ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกสินค้าเครื่องดื่มยี่ห้อเอ็ม – 150 ของโจทก์ไปตามถนนเจนจบทิศ เพื่อนำสินค้าไปส่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างทางรถยนต์ของโจทก์ได้เฉี่ยวชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับแล่นสวนทางมา ทำให้สินค้าของโจทก์ดังกล่าวได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 400 บาท ตามสำเนาบันทึกการเปรียบเทียบ สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าปรับและสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.8จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 98 – 005682/3 เอกสารหมาย จ.11 ขณะเกิดเหตุยังอยู่ในระยะเวลาประกันภัย และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทตามฟ้องปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์รับประกันวินาศภัยและเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม ในขณะเกิดเหตุคดีนี้และยังอยู่ในระยะเวลาตามสัญญาประกันภัย กรมธรรม์เลขที่ 98 – 005682/3 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2541 นายชูศักดิ์ใจหาญ ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 – 6864 นครราชสีมาของโจทก์บรรทุกสินค้าเครื่องดื่ม ยี่ห้อเอ็ม – 150 ของโจทก์ไปส่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างทางจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม ด้วยความประมาทแล้วเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ดังกล่าว ทำให้สินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 236,250 บาท จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ภ – 9438 นครปฐม ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 253,726 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องดังกล่าวได้โดยแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ต่อจำเลยที่ 3 แล้ว กล่าวคือ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์เลขที่ 98 – 005682/3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็มิได้ให้การปฏิเสธถึงความมีอยู่ของกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวของจำเลยที่ 3 และตามกรมธรรม์ดังกล่าวนั้นเองมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 3 สามารถทราบข้อเท็จจริงได้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ว่าเป็นใคร จำเลยที่ 3 ย่อมต้องเข้าใจข้อหาได้เป็นอย่างดี หากมีเหตุทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ก็สามารถต่อสู้คดีได้โดยไม่ยาก กรณีนี้โจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องอีกว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากใครดังที่จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้ ฟ้องโจทก์นอกจากจะแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาดังกล่าว ยังได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและข้อบังคับครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ด้วย ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share