คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ เมื่อตามคำสั่งและประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี แม้จะบวกค่าอัตราความเสี่ยงร้อยละ 2 ต่อปี ก็เป็นอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี มิใช่อัตราร้อยละ 16.5ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากจำเลยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น
สัญญากู้ยืมเงินมีข้อความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์กำหนดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นโดยตกลงคิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หาได้ไม่ เพราะเป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมเงินต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
แม้ในทางปฏิบัติโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังวันทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นการคิดดอกเบี้ยในขณะจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิใช่คิดดอกเบี้ยในขณะทำสัญญา เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3(ก) ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นโมฆะ โจทก์ชอบที่จะได้เพียงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43052 และ 43053 ออกขายทอดตลาด เป็นให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43051และ 43052 ออกขายทอดตลาด แต่ขณะโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวโจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อหลงผิดเล็กน้อยดังกล่าวย่อมอยู่แก่ศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143วรรคหนึ่ง มิใช่อำนาจของศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2537 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 300,000 บาทยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ขณะทำสัญญาคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี หากผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และตกลงชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 7,100 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 กันยายน 2537 โดยกำหนดชำระหนี้คืนทั้งหมดภายในวันที่ 7 กันยายน2542 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1546 และ 1547 ซึ่งต่อมาออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 43051 และ43052 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ในวงเงิน 300,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยินยอมให้โจทก์บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยจนครบภายหลังทำสัญญาจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วน โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2539 จำนวน 7,100บาท ซึ่งโจทก์นำไปหักชำระหนี้ที่ค้างชำระไปได้บางส่วน จากนั้นจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลย คงค้างชำระต้นเงิน 201,731.27 บาท และดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 10 พฤษภาคม 2543) เป็นเงิน 135,670.12 บาทโจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 337,401.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน201,731.39 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43051 และ 43052 ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 201,731.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43052 และ 43053 ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 201,731.27 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ระหว่างฎีกา ก่อนส่งสำนวนมาศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัดยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2537 จำเลยกู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 โดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองเป็นประกันหนี้ ตามหนังสือสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายวันที่ 30ตุลาคม 2539 ตามบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.11 คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 เป็นโมฆะหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า อัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์เมื่อบวกค่าอัตราความเสี่ยงแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เท่ากับอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี และแม้ในสัญญาจะระบุดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แต่เมื่อโจทก์ไม่เคยคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากจำเลยในขณะทำสัญญาหรือภายหลังจากนั้น ดอกเบี้ยตามสัญญาจึงไม่เป็นโมฆะ ทั้งการนำสืบว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ เมื่อตามคำสั่งและประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.13 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 ได้ กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี แม้จะบวกค่าอัตราความเสี่ยงร้อยละ 2 ต่อปี ก็เป็นอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี หาใช่อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากจำเลยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี เท่านั้นแต่ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 มีข้อความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมตามข้อ 1 ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน เห็นได้ว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนว่าโจทก์จำเลยตกลงคิดดอกเบี้ยกันในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จะตองชำระกันเป็นรายเดือนทุกเดือน โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์กำหนดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น โดยตกลงคิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หาได้ไม่ เพราะเป็นการนำพยานบุคคลเข้าสืบพยานเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 จะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) และแม้ในทางปฏิบัติโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังวันทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นการคิดดอกเบี้ยในขณะจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา มิใช่คิดดอกเบี้ยในขณะทำสัญญา เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3(ก) ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมายจ.4 จึงเป็นโมฆะ โจทก์ชอบที่จะได้เพียงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43052 และ 43053 ออกขายทอดตลาด เป็นให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่43051 และ 43052 ออกขายทอดตลาด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น เห็นว่าขณะโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าว โจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4แล้ว อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อหลงผิดเล็กน้อยดังกล่าวย่อมอยู่แก่ศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง หาใช่อำนาจของศาลชั้นต้นไม่ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้แก้ไขคำพิพากษานั้น จึงไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว และศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่43051 และ 43052 ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share