คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3780/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อตกลงประนีประนอมยอมความในส่วนที่เกี่ยวกับการถอนฟ้องที่ตกลงให้โจทก์ถอนฟ้องคดีแพ่ง 1 คดี จำเลยกับพวกถอนฟ้องคดีอาญา 1 คดี คดีแพ่ง 2 คดี และตกลงประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งอีก 1 คดี คดีแพ่งทั้ง 4 คดีดังกล่าวไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดิน ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150แม้ข้อตกลงในส่วนที่ฝ่ายจำเลยต้องถอนฟ้องคดีอาญาในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิใช้เอกสารสิทธิปลอม เป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ก็เป็นส่วนที่แยกออกจากส่วนที่สมบูรณ์ได้ตามมาตรา 173 จึงไม่เกี่ยวกับส่วนที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้จำนวน 700,000 บาท จากจำเลยและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จำเลยตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความ
ประเด็นข้อพิพาทตั้งขึ้นได้โดยคำคู่ความ ซึ่งหมายความรวมถึงคำให้การด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5),183 เมื่อจำเลยให้การว่าหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องระงับไปด้วยการทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาว่าบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะหรือไม่ จึงเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเพราะมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามข้อต่อสู้ของจำเลย ทั้งโจทก์ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในชั้นอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 500,000 บาท จำเลยจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2539 และยอมให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน แต่จำเลยผิดนัดดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 187,397.25 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 687,397.25บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง เดิมเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม2539 โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ 2 ฉบับ มีข้อความตรงกันว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 500,000 บาท และยอมให้ดอกเบี้ยโจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นไม่ได้กรอกข้อความในช่องกำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์เป็นผู้เก็บรักษาหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งสองฉบับ ต่อมาปี 2540 โจทก์นำหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับหนึ่งมาพิมพ์ข้อความกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ว่า “วันที่ 30 ธันวาคม 2539” โดยจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมแล้วนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้น ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความลงวันที่ 9 มีนาคม 2541 เพื่อระงับข้อพิพาทที่มีต่อกันทั้งหมด โดยจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 700,000 บาทจำเลยจะชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้โจทก์ในกำหนด 7 เดือน นับแต่เดือนพฤษภาคม2541 เมื่อชำระในกำหนดแล้วโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2597ให้จำเลยและโจทก์ยอมถอนฟ้องคดีดังกล่าวในวันที่ทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความนั้น ตามคดีหมายเลขแดงที่ 165/2541 ของศาลชั้นต้น ก่อนครบกำหนดจำเลยนำเงินจำนวน 700,000 บาท ไปชำระให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่รับชำระ จำเลยจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางทรัพย์ที่สำนักงานวางทรัพย์จังหวัดแพร่แล้วฟ้องโจทก์ให้รับเงินจำนวนดังกล่าว และให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2597ให้จำเลยตามคดีหมายเลขดำที่ 1296/2541 ของศาลชั้นต้น คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาโจทก์จึงนำหนังสือรับสภาพหนี้อีกฉบับหนึ่งไปกรอกข้อความกำหนดเวลาชำระหนี้ว่า “30 ธันวาคม 2539” โดยจำเลยมิได้รู้เห็น แล้วนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ โดยโจทก์รู้อยู่แล้วว่าเป็นการรับสภาพหนี้มูลหนี้เดียวกับหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 165/2541 ของศาลชั้นต้นซึ่งระงับไปแล้วโดยบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความลงวันที่ 9 มีนาคม 2541 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30พฤษภาคม 2539 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์รวม 2 ฉบับ มีข้อความอย่างเดียวกันว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จำนวน 500,000 บาท จำเลยยอมให้ดอกเบี้ยโจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 แผ่นที่ 3ต่อมาปี 2540 โจทก์นำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 3 มาลงวันกำหนดเวลาชำระหนี้ว่า “30 ธันวาคม 2539” แล้วนำมาฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.3 ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน มีข้อสาระสำคัญว่าทั้งสองฝ่ายตกลงให้ยุติคดีที่พิพาทกันตามที่ระบุไว้ โดยจำเลยยินยอมถอนฟ้องคดีอาญา 1 คดี คดีแพ่ง 2 คดี และโจทก์ยินยอมถอนฟ้องคดีแพ่ง 1 คดี ทั้งจำเลยตกลงจะชำระเงินให้โจทก์จำนวน 700,000บาท ภายในกำหนด 7 เดือน นับแต่เดือนพฤษภาคม 2541 และฝ่ายจำเลยจะถอนการอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 2597 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ กับจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 1/41-42 ถนนเหมืองหิน ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ส่วนโจทก์ตกลงให้ฝ่ายจำเลยเก็บผลประโยชน์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2597 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2541 เป็นต้นไป และจะดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวตามรูปแผนผังที่ดินเอกสารแนบท้ายบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความ กับยอมให้ถือว่าฝ่ายจำเลยได้ชำระหนี้จำนองลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2539เสร็จสิ้น เมื่อจำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 700,000 บาทแล้ว โจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2597 ให้แก่จำเลยทันที โดยโจทก์ไม่เรียกร้องเอาค่าใช้จ่ายในการทำถนนในที่ดินโฉนดเลขที่ 2597 จากฝ่ายจำเลย และยินยอมให้ฝ่ายจำเลยเช่าตึกแถว 2 คูหา ที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3323 และ 3324 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ในอัตราค่าเช่าคูหาละ 4,000 บาท ต่อเดือน กับยินยอมขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3325 และ 3326 ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างรวมราคา 2,000,000 บาท ให้ฝ่ายจำเลย ตามบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.4 โจทก์จำเลยต่างถอนฟ้องคดีต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.4 แล้ว และจำเลยได้แจ้งโจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2597 ให้จำเลยพร้อมกับรับชำระหนี้จำนวน 700,000 บาท จากจำเลยภายในกำหนดเวลาที่ระบุในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.4 แต่โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลยเนื่องจากที่ดินดังกล่าวติดภารจำยอม จำเลยจึงนำเงินจำนวน 700,000 บาทไปวางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ประจำศาลชั้นต้นและสำนักงานวางทรัพย์ประจำศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2597 ให้จำเลยตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.4 จำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นขอบังคับโจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2597 ให้จำเลยและรับชำระหนี้จำนวน 700,000 บาท จากจำเลย คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ส่วนโจทก์นำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 มาฟ้องคดีนี้โดยลงวันกำหนดเวลาชำระหนี้ว่า “30 ธันวาคม2539″

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความที่ให้จำเลยถอนฟ้องโจทก์ในคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะและไม่ทำให้หนี้เดิมตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 และ จ.3แผ่นที่ 3 ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.4 มีข้อตกลงที่ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต้องปฏิบัติรวมทั้งหมด 10 ข้อ ในส่วนที่เกี่ยวกับการถอนฟ้องเป็นเรื่องที่ตกลงให้โจทก์ถอนฟ้องคดีแพ่ง 1 คดี จำเลยกับพวกถอนฟ้องคดีอาญา 1 คดี คดีแพ่ง 2 คดี และตกลงประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งอีก 1 คดี คดีแพ่งทั้ง 4 คดีดังกล่าวไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดิน ข้อตกลงในส่วนดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้จะฟังว่าข้อตกลงในส่วนที่ฝ่ายจำเลยถอนฟ้องคดีอาญาในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1134/2540 ของศาลชั้นต้น ที่ระบุในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 เป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะก็ตาม ก็เป็นส่วนที่แยกออกจากส่วนที่สมบูรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 ซึ่งไม่เกี่ยวกับส่วนที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้จำนวน 700,000 บาท จากจำเลยและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2597 ให้จำเลยตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 และข้อ 5 หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.1 และจ.3 แผ่นที่ 3 ซึ่งเป็นหนี้เดิม จึงระงับไปแล้วดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่จำเลยยกขึ้นกล่าวแก้ในคำแก้ฎีกาว่า ฎีกาของโจทก์เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นเพราะโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องนั้น เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทตั้งขึ้นโดยคำคู่ความ ซึ่งหมายความรวมถึงคำให้การด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5), 183 เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องระงับไปด้วยการทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาว่าบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะหรือไม่ จึงเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเพราะมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามข้อต่อสู้ของจำเลย ทั้งโจทก์ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในชั้นอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น”

พิพากษายืน

Share