คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันยื่นคำร้อง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันในวันนั้นเพราะวันดังกล่าวเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ทราบเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลเนื่องจากยังไม่ได้ขอคัดคำพิพากษาเลย แต่ทนายจำเลยที่ 1 ก็ได้ลงชื่อรับทราบในคำร้องว่าให้มาฟังคำสั่งในวันที่ล่วงเลยกำหนดยื่นอุทธรณ์ แสดงว่าทนายจำเลยที่ 1 ยอมรับผลการสั่งของศาลแล้วว่าหากศาลไม่อนุญาตจำเลยที่ 1 ย่อมเสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ กรณีจึงถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2542 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ทนายจำเลยที่ 1ยังมิได้ขอคัดคำพิพากษา เนื่องจากมาจดรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ทนายจำเลยที่ 1 มีคดีที่ต้องเรียกอุทธรณ์และทำคำแก้อุทธรณ์อีกหลายคดี จึงขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มีกำหนด 20 วัน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ได้อ้างเหตุอันสมควรที่จะขอขยายระยะเวลายกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยที่ 1ที่อ้างว่าทนายจำเลยที่ 1 มีคดีที่ต้องเรียงอุทธรณ์และทำคำแก้อุทธรณ์อื่นหลายคดี มิใช่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ได้ จำเลยที่ 1 ฎีกาประการแรกว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่คู่ความจะทำอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งได้ก็ต้องทราบเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงของศาล เมื่อตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งยื่นในวันที่ 29 มกราคม 2544เวลา 11.15 นาฬิกา อันเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์นั้นระบุข้อความในตอนต้นว่าทนายจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ขอคัดคำพิพากษา จึงส่อแสดงให้เห็นว่าการยื่นอุทธรณ์ไม่ทันภายในกำหนดมิใช่มาจากเหตุที่ทนายจำเลยที่ 1 มีคดีที่จะต้องเขียนอุทธรณ์และทำคำแก้อุทธรณ์อีกหลายคดีดังที่ทนายจำเลยที่ 1 อ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในตอนท้าย จึงถือไม่ได้ว่าตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์พิเศษ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาประการต่อมาว่า การที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาในวันยื่นคำร้องทำให้จำเลยที่ 1 เสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์นั้น เห็นว่าแม้ศาลจะสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันยื่นคำร้อง จำเลยที่ 1 ก็คงไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันในวันนั้น เพราะวันดังกล่าวเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และจำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ทราบเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลเนื่องจากยังไม่ได้ขอคัดคำพิพากษาเลย นอกจากนี้ทนายจำเลยที่ 1 ก็ได้ลงชื่อรับทราบในคำร้องว่าให้มาฟังคำสั่งในวันที่ล่วงเลยกำหนดยื่นอุทธรณ์ แสดงว่าทนายจำเลยที่ 1 ยอมรับผลการสั่งของศาลแล้วว่าหากศาลไม่อนุญาตจำเลยที่ 1 ย่อมเสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะมาโต้แย้งในภายหลังหาชอบไม่ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share