แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52 จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้า ที่ตนขนส่งต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุตาม มาตรา 52(1) หรือ (11) จริง จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ เพื่อให้ได้ความเช่นนั้น ซึ่งกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยต้องปรากฏว่า เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือ ใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น สินค้าเกลือพิพาทได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำทะเลรั่ว ผ่านรอยแตกผุกร่อนที่ดาดฟ้าและท่อระบายอากาศถังน้ำอับเฉา เข้าไปถึงสินค้าที่เก็บในระวางที่ 2 ซึ่งในระหว่างเดินทาง เรือประสบคลื่นลมแรง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคลื่นลมนั้นมีความรุนแรงเกินความคาดหมายในสภาพท้องทะเลช่วงนั้น ถึงขนาดที่ไม่อาจป้องกันมิให้น้ำทะเลรั่วซึม เข้าไปในเรือ ได้แต่อย่างใด จำเลยในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องทำให้เรือ อยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัยในเส้นทาง เดินเรือนั้น จัดให้มีคนประจำเรือ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ และสิ่งจำเป็นให้เหมาะสมแก่ความต้องการ สำหรับเรือนั้น และจัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆ ที่ใช้บรรทุก ของให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับขนส่ง และรักษาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 8 แม้ก่อนหน้าที่จำเลยจะนำเรือดังกล่าวมาใช้ ขนส่งสินค้าพิพาทเพิ่งจะได้รับการตรวจสภาพโครงสร้าง ของตัวเรือมาก่อนก็ตาม แต่หลังจากการตรวจสภาพโครงสร้างเรือ แล้วก็อาจมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับโครงสร้างหรือส่วนอื่นที่ไม่ใช่โครงสร้างของเรือเกิดขึ้นได้ซึ่งหากมีข้อบกพร่องดังกล่าวจำเลยก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขเสียก่อนบรรทุก ของลงเรือหรือก่อนนำเรือออกเดินทางเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 8 ปรากฏว่าหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อยเจ้าหน้าที่ สำรวจความเสียหายของสินค้าก็สามารถตรวจพบรอยผุกร่อน ที่ดาดฟ้าและท่อระบายอากาศถังน้ำอับเฉาได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นขณะอยู่ในความดูแลของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าเกลือบริสุทธิ์จำนวน8,000 กระสอบ ให้แก่บริษัทสิริมาลย์ เทรดดิ้ง จำกัด ในวงเงิน36,740 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 947,892 บาท และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 บริษัทสิริมาลย์ เทรดดิ้ง จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยให้ทำการขนส่งสินค้าเกลือบริสุทธิ์จำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อคือบริษัทเปอร์คิดมาตาน คาร์โก ทุมปาตาน จำกัด ที่ท่าเรือมะละกาประเทศมาเลเซีย โดยใช้เรือเดินทะเล ครั้นวันที่ 28 ธันวาคม 2539เรือเดินทางไปถึงท่าเรือมะละกา ผู้รับตราส่งขอรับสินค้าจากจำเลยแต่สินค้าได้รับความเสียหายเปียกน้ำ จำนวน 134 กระสอบปนเปื้อนสนิมจากเรือและน้ำ จำนวน 4,007 กระสอบ ค่าเสียหายสุทธิเมื่อหักค่าขายซากและค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดร้อยละ 0.5 ตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว เท่ากับ 16,181.14 ดอลลาร์สหรัฐ ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการขนส่งนำเรือที่มีสภาพเก่าทรุดโทรมมาใช้ในการขนส่งสินค้าเรือเป็นสนิมทำให้น้ำรั่วซึม เข้าไปในเรือ โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 16,181.14 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้ซื้อ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 759,780.85 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 728,151.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นเนื่องจากเรือต้องผจญมรสุมและคลื่นลมจัด ทำให้โครงสร้างเรือบางส่วนซึ่งไม่สามารถตรวจสอบดูด้วยตาเปล่าและวิธีการธรรมดาแตกปริ ออกมาเล็กน้อยเป็นเหตุให้น้ำซึม เข้าไปในระวางสินค้า เป็นเหตุสุดวิสัยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 367,693.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นผู้รับขนสินค้าเกลือพิพาทและสินค้าเสียหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะความเสียหายของสินค้าที่จำเลยรับขนส่งเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือความชำรุดบกพร่องของเรือที่แฝงอยู่ภายในซึ่งไม่อาจพบเห็นหรือทราบได้ด้วยการตรวจสอบอย่างระมัดระวังและโดยใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องใช้สำหรับผู้ประกอบอาชีพตรวจเรือตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 52(1) และ (11) หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 52 ดังกล่าว จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ตนขนส่งได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุตามมาตรา 52(1) หรือ (11) จริง จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อให้ได้ความเช่นนั้น สำหรับกรณีที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจะต้องปรากฏว่าเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยตรงกันว่า สินค้าเกลือพิพาทได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำทะเลรั่วผ่านรอยแตกผุกร่อนที่ดาดฟ้าและท่อระบายอากาศถังน้ำอับเฉาเข้าไปถึงสินค้าที่เก็บในระวางที่ 2จำเลยนำสืบว่า ระหว่างเดินทางเรือประสบคลื่นลมแรง แต่ตามคำเบิกความของนายอาจกิจ เขมะไพโรจน์ ผู้จัดการบริษัทจำเลยได้ความว่าเหตุเกิดในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นเดือนที่มีคลื่นลมแรง แสดงว่าเป็นสภาพตามฤดูกาลทั่วไปที่จำเลยคาดการณ์ถึงสภาพท้องทะเลในช่วงเวลาดังกล่าวได้ และตามหนังสือโต้แย้งทางทะเล(marine Note of Protest) เอกสารหมาย จ.3 ที่กัปตันเรือทำขึ้นก็ระบุเพียงว่าเรือได้ผจญกับคลื่นลมแรงโดยไม่ปรากฏว่าคลื่นลมนั้นมีความรุนแรงเกินความคาดหมายในสภาพท้องทะเลในช่วงนั้นถึงขนาดที่ไม่อาจป้องกันมิให้น้ำทะเลรั่วซึม เข้าไปในเรือได้แต่อย่างใดนอกจากนี้ในขณะก่อนบรรทุกของลงเรือหรือก่อนเรือนั้นจะออกเดินทางจำเลยในฐานะผู้ขนส่งยังมีหน้าที่ต้องทำให้เรืออยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัยในเส้นทางเดินเรือนั้น จัดให้มีคนประจำเรือเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ และสิ่งจำเป็นให้เหมาะสมแก่ความต้องการสำหรับเรือนั้น และจัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆที่ใช้บรรทุกของให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับขนส่งและรักษา ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 8 ข้อที่ว่าเรือเมอร์เดก้าที่จำเลยนำมาใช้ขนส่งสินค้าพิพาทเพิ่งจะได้รับการตรวจสภาพโครงสร้างของตัวเรือก่อนเกิดความเสียหาย 6 เดือน ตามใบอนุญาตเอกสารหมาย จ.5ซึ่งผู้ตรวจสภาพได้รับรองโครงสร้างตัวเรือไว้ 1 ปี นั้น เห็นว่าหลังจากการตรวจสภาพโครงสร้างเรือดังกล่าวแล้วก็อาจมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับโครงสร้างหรือส่วนอื่นที่ไม่ใช่โครงสร้างของเรือเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากมีข้อบกพร่องดังกล่าวจำเลยก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขเสียก่อนบรรทุกของลงเรือหรือก่อนนำเรือออกเดินทางเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 8 ดังกล่าวและปรากฏว่าหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อยเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายของสินค้าก็สามารถตรวจพบรอยแตกผุกร่อนที่ดาดฟ้าและท่อระบายอากาศถังน้ำอับเฉาดังกล่าวข้างต้นได้ ที่จำเลยอ้างว่าหลังเกิดเหตุจะตรวจพบข้อบกพร่องดังกล่าวได้ง่าย แต่ก่อนเกิดเหตุจะไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายนั้น เป็นข้ออ้างลอย ๆ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตรวจสภาพเรือในขณะก่อนบรรทุกของลงเรือหรือก่อนเรือออกเดินทางอย่างไรหรือไม่ พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นจากคลื่นลมแรงถึงขนาดเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความชำรุดบกพร่องของเรือที่แฝงอยู่ภายในซึ่งไม่อาจพบเห็นหรือทราบได้ด้วยการตรวจสอบอย่างระมัดระวังโดยใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรต้องใช้สำหรับผู้ประกอบอาชีพตรวจเรือ อันจะถือเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามบทบัญญัติมาตรา 52(1) และ (11) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นขณะอยู่ในความดูแลของจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน