คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5609/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโรงแรมจำเลยว่าด้วยกฎระเบียบทางวินัย ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้พนักงานของจำเลยละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการกระทำอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ทรัพย์สินผลประโยชน์ของโรงแรม หรือการกระทำอันเป็นการขัดต่อศีลธรรมประเพณีอันดีงามพนักงานทุกคนของจำเลยจะต้องไม่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวทั้งในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงาน ขณะที่อยู่ภายในหรือภายนอกสถานที่ทำงาน ถ้าพนักงานกระทำการใดที่อาจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือในทางอื่นใดแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับได้
โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรมจำเลยมีชู้กับพนักงานชายซึ่งเป็นช่างประจำโรงแรมของจำเลย แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นภายในบริเวณโรงแรม หรือในเวลาทำงานก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาเกียรติและเป็นการประพฤติชั่ว ซึ่งเป็นการละเมิดต่อศีลธรรมอันดีอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะภริยาของพนักงานช่าง ชู้ของโจทก์ทนพฤติกรรมดังกล่าวของสามีและโจทก์ไม่ไหว จึงได้ไปตามหาสามีถึงโรงแรมจำเลยและร้องเรียนต่อจำเลย ในที่สุดครอบครัวต้องแตกแยก และเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่พนักงานโรงแรมของจำเลย การกระทำของโจทก์และชายชู้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปกครองบังคับบัญชาพนักงานโรงแรมของจำเลย รวมทั้งชื่อเสียงของโรงแรมจำเลยด้วย เนื่องจากโจทก์มีตำแหน่งฝ่ายบริหารเป็นถึงผู้จัดการแผนกต้อนรับ แต่กลับมีความประพฤติชั่วเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่พนักงานอื่น ๆ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และกรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2538 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการแผนกต้อนรับ ณ โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท ซึ่งเป็นกิจการของจำเลย และโจทก์ทำงานในตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการแผนกห้องพัก ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นการกระทำที่อาจทำลายภาพลักษณ์ของโรงแรมซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่จำเลยอ้าง การกระทำของจำเลยเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์จำนวน 279,000 บาทและค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่ากับค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือนจำนวน279,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ประพฤติตัวไม่เหมาะสม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง กล่าวคือระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติงานอยู่กับจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสามีชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับพนักงานของจำเลยซึ่งโจทก์ทราบดีว่ามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วเช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายหึงหวงกันขึ้นในโรงแรมของจำเลยผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์เสื่อมศรัทธาต่อโจทก์ เป็นเหตุให้การบังคับบัญชาพนักงานของโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้โรงแรมได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้เพราะโรงแรมของจำเลยเป็นโรงแรมระดับนานาชาติมีโรงแรมอยู่ในเครือเชอราตันเป็นจำนวนมากทั่วโลกเป็นที่เชื่อถือของลูกค้าเป็นอย่างมาก เมื่อมีเรื่องความประพฤติเสื่อมเสียเช่นนี้ทำให้ลูกค้าเห็นว่าจำเลยไม่สามารถควบคุมความประพฤติของพนักงานได้ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยประกอบกิจการโรงแรมเชอราตัน แกรนด์สุขุมวิท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2538 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งผู้จัดการแผนกต้อนรับในโรงแรมดังกล่าว และหลังสุดก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งผู้จัดการแผนกห้องพัก มีหน้าที่ดูแลควบคุมและบันทึกการเข้าออกของแขกที่มาพักในโรงแรมโดยเป็นผู้กำหนดห้องพักและออกบัตรผ่านเข้าออกห้องพักให้แขกบันทึกว่าแขกรายใดจะพักอยู่นานเท่าใด และออกจากโรงแรมเวลาใด โดยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 83,000 บาท กับค่าบริการเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน โจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายธำมรงค์ เขียวสุดตา พนักงานช่างของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กรณีโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับพนักงานของจำเลย เป็นเพียงเรื่องสิทธิส่วนตัวของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ร้ายแรงนั้น เห็นว่าระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 8 ว่าด้วยกฎระเบียบทางวินัยได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้พนักงานของจำเลยละเว้นหรือหลีกเลี่ยงการกระทำอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ทรัพย์สิน ผลประโยชน์ของโรงแรมหรือการกระทำอันเป็นการขัดต่อศีลธรรมประเพณีอันดีงาม พนักงานทุกคนของจำเลยจะต้องไม่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวทั้งในเวลาทำงานหรือนอกเวลาทำงานขณะอยู่ในหรือภายนอกสถานที่ทำงาน ถ้าพนักงานกระทำการใดที่อาจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือในทางอื่นใดแล้ว จำเลยย่อมมีอำนาจพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับได้ การที่โจทก์มีชู้กับพนักงานช่างประจำโรงแรมของจำเลย แม้จะไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นภายในบริเวณโรงแรม หรือในเวลาทำงาน ก็ถือได้ว่าเป็นการไม่รักษาเกียรติและประพฤติชั่ว ซึ่งเป็นการละเมิดต่อศีลธรรมอันดีอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความว่า ภริยาของพนักงานช่างชู้ของโจทก์ทนพฤติกรรมดังกล่าวของสามีและโจทก์ไม่ไหวได้ไปตามหาสามีถึงโรงแรมจำเลย และร้องเรียนต่อจำเลย จนในที่สุดครอบครัวแตกแยก ต้องแยกทางกันอยู่เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่พนักงานโรงแรมของจำเลย การกระทำของโจทก์และชายชู้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปกครองบังคับบัญชาพนักงานโรงแรมของจำเลย รวมทั้งชื่อเสียงของโรงแรมจำเลยด้วย เนื่องจากโจทก์มีตำแหน่งฝ่ายบริหารเป็นถึงผู้จัดการแผนกต้อนรับ แต่กลับมีความประพฤติชั่ว เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่พนักงานอื่น ๆ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายแก่โจทก์

พิพากษายืน

Share